ในเมื่อเชื่อไม่ได้ 100%  แล้วทำไมต้องอ่านด้วย

Whether To Trust Financial Statements (Part 2)

โอเค  จากตอนที่แล้วเราจะพบว่างบการเงินมันเชื่อถือไม่ได้ 100%  ถึงรับรองโดยบริษัทผู้สอบบัญชีขนาดใหญ่มีชื่อเสียงแค่ไหนก็พลาดได้  แต่เราทุกคนก็ควรต้องอ่านอยู่ดี

เหตุผลสำคัญสุดเลยนะคือ  มันดีกว่าคิดเองเออเองแน่นอน

จะลงทุนเราต้องเห็นภาพรวม  ว่าสรุปที่เค้าทำกิจการมาเนี่ยเป็นไงบ้าง  เพราะการดูแค่ว่าบริษัททำอะไรขายอะไรเฉยๆแล้วคิดว่าเพียงพอมันหยาบเกินไป  ผมยกตัวอย่างรุ่นพี่ที่ทำงานผมท่านหนึ่งเค้าพูดถึง Lazada ขึ้นมา  เค้าบอกว่า Lazada ได้รับความนิยมมากขึ้น    น้องที่แผนกเค้าก็ซื้อของจาก Lazada   ของราคาถูกด้วย  ไม่ต้องจ่ายเงินก่อนด้วยนะ  จ่ายตอนรับของเลยทีเดียว  มีโอกาสหยิบจับดูสภาพดูว่าใช้ได้ก่อนค่อยจ่าย  ทีนี้ได้ข่าวว่า Alibaba มาซื้อ Lazada ไป  รุ่นพี่ผมเค้าเชื่อว่า Lazada น่าจะกำไรดีถึงถูกซื้อไป  ให้ทายว่า Lazada กำไรมั้ย ??

Lazada ผลการดำเนินงาน  (เอาข้อมูลมาจากบริษัทแม่ Rocket Internet)

ปี 2013 : ขาดทุน 58.5 ล้านเหรียญ

ปี 2014 : ขาดทุน 142.5 ล้านเหรียญ

ปี 2015 : ขาดทุน 296.5 ล้านเหรียญ

เรื่องนี้ให้ข้อคิดครับ  บริษัทที่ดูขายดีก็อาจจะขาดทุนก็ได้  การที่รุ่นพี่ผมคิดว่าบริษัทน่าจะกำไร  ไม่ได้แปลว่าบริษัทมันจะกำไรแต่อย่างใด  ดังนั้นเราจึงต้องอ่านงบการเงินไง  ไม่งั้นเรื่องแบบนี้ใครจะรู้  จินตนาการเอาเหรอ

และเหตุผลอย่างที่สองคือ  โอกาสที่เราจะเจองบการเงินที่บิดเบือนรุนแรงมันน้อย

อารมณ์มันคล้ายๆกับบอกว่า  โอกาสที่เราขับรถอยู่จะมีรถพุ่งข้ามเกาะกลางมาชนจนเราเสียชีวิตน่ะครับ  คือมันเกิดขึ้นได้จริงแหละแล้วก็เคยมีเคสแบบนั้นด้วย  ดังนั้นเราเลยไม่ควรขับรถเหรอครับ

ต้องเข้าใจว่าบริษัทโดยทั่วไปแล้วเค้าต้องการจะดำเนินธุรกิจให้มีกำไร  ไม่มีบริษัทไหนตั้งกิจการมาเพื่อวัตถุประสงค์คือมาเขียนงบการเงินหลอกคน  และการจะบิดเบือนตกแต่งงบการเงินแบบรุนแรงประเภทเสกตัวเลขมันถูกจับได้ง่าย

ดังนั้นผมเลยยังอ่านงบการเงินอยู่ครับ  เชื่อไม่ได้ 100%  แต่ก็ควรอ่านอยู่ดี

ทีนี้สำหรับคนที่ขยัน  บวกกับยังกังวลเรื่องการตกแต่งงบบัญชีอยู่  ในตอนหน้าผมจะมาพูดถึงว่า  โอเคล่ะในเมื่อเรายังต้องอ่านงบการเงิน  และเราก็รู้ว่ามันเชื่อไม่ได้ 100% อาจมีตกแต่ง  คำถามคือ  เรามีวิธีอื่นในการจำกัดความเสี่ยงตรงนี้มั้ย  เราทำอะไรได้บ้างเพื่อที่จะลดความเสี่ยงตรงนี้