หุ้นจีนน่าลงทุนมั้ย ?

Is Chinese stocks interesting?

หุ้นจีนน่าลงทุนมั้ย ?

ช่วงนี้มีคนถามความเห็นเกี่ยวกับหุ้นจีนหลายคนละ มีทั้งถามหุ้นจีนโดยรวม หุ้นเทคโนโลยีจีนซึ่งที่ผ่านมาราคาตกเยอะเพราะโดนเพ่งเล็งจากรัฐบาล และมีที่ถามถึง Alibaba โดยเฉพาะก็มีเข้าใจว่าเพราะมันมี DR ในไทย วีดิโอนี้ผมแสดงความเห็นของผมละกัน

หุ้นจีนโดยรวม
ส่วนตัวถ้าพูดถึงตลาดหุ้นโดยรวม ผมมีความเชื่อว่าตลาดหุ้นโดยรวมจะดีหรือไม่ดีนี่มันก็จะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนั้นๆ แล้วส่วนตัวผมมีมุมมองที่ดีกับเศรษฐกิจประเทศจีนโดยรวมนะ แล้วก็เลยมีมุมมองที่ดีกับหุ้นจีนโดยรวมด้วยว่าในเชิง fundamental บริษัทในจีนควรจะสามารถเติบโตได้อยู่ไปในอนาคต ถึงแม้ปีหลังๆมามันจะเติบโตช้าลง มันก็ยังเติบโตดีกว่าหลายประเทศอื่นอยู่ดีครับ เพื่อให้เห็นภาพเราลองเทียบการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศจีน, ไทย, สหรัฐ กับยุโรปดู ก็จะพบว่าจีนยังเติบโตดีกว่าที่อื่นอยู่



ส่วนเรื่องว่าตลาดหุ้นจีนตอนนี้แพงไปมั้ยหรือถูกพอหรือยัง อันนั้นมันก็อีกเรื่องนึง เมื่อมีคนถามผมก็ลองไปเปิดดูว่า P/E ตลาดหุ้นอย่าง Shanghai Composite นี่มันเท่าไหร่ก็เจอว่า
Shanghai Composite ล่าสุดอยู่ 12.89 เท่า
SET อยู่ 19.58 เท่า
NYSE Composite อยู่ 33.5 เท่า
S&P 500 อยู่ 21.72 เท่า
STOXX Europe 600 อยู่ 13.3 เท่า (อันนี้ข้อมูลล่าสุดแค่ตอนจบเดือนเมษายน)
ซึ่งดูแบบนี้ก็ดูราคาถูกอยู่นะ ทั้ง relative เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นอื่นหรือดู absolute ตัวมันเอง

ดังนั้นผมมองว่าหุ้นจีนโดยรวมน่าลงทุนครับ

หุ้นเทคโนโลยีจีน
อันนี้ก็มีคนถาม เพราะที่ผ่านมากลุ่มธรุกิจนี้ดูเหมือนโดนรัฐบาลเพ่งเล็งจัง

ส่วนตัวผมก็มองว่าดีอีกเช่นกัน หลักๆเพราะเชื่อว่ายังไงการที่รัฐบาลเพ่งเล็งก็ไม่น่าเอาถึงเละ เพราะสุดท้ายถ้าประเทศจีนจะเป็นประเทศมหาอำนาจยังไงพัฒนาการด้านเทคโนโลยีก็ต้องสนับสนุน

ซึ่งประเด็นเรื่องนี้ก็ดูเหมือนหลังๆรัฐบาลจีนจะออกมาพูดไปในทางสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีละ

บวกกับว่าผมรู้สึกว่าประเทศจีนเองเทคโนโลยีเค้าก็ไม่ห่วยนะ Huawei จริงๆก็ชนะใน 5G หรืออย่างโดรนที่ดังก็เป็น Dji ของจีนอีก EV ก็ดูจะเป็นผู้นำเพราะรัฐบาลสนับสนุนมาก พวก AI face recognition ก็ดูจะทำได้ดีมาก

ทีนี้คำถามต่อมาคือแล้วหุ้นเทคโนโลยีในจีนแพงเกินไปหรือเปล่า หรือตอนนี้ราคาถูกแล้ว ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เราพอจะกะภาพรวมได้โดยการดู P/E เฉลี่ยของดัชนีที่มันรวมหุ้นเทคโนโลยีจีน

อย่างของ Hang Seng Technology นี่คือหุ้น Tech ใหญ่สุด 30 บริษัทที่อยู่ในตลาดฮ่องกง P/E 82.56 เท่า บ้าบอจริงๆ นี่ขนาดว่าราคาตกลงมาละนะ เป็นผมเห็นแบบนี้จะสยองนะ


ส่วนของจีนแผ่นดินใหญ่ ผมเจอดัชนีของ MSCI มันมีสองอันที่ชื่อคล้ายกันคือ MSCI China Tech 100 กับ MSCI China Information Technology

MSCI China Tech 100 จะมีหุ้นพวก Tencent, Alibaba, Meituan, Baidu, etc. ดัชนีกลุ่มนี้ P/E 66.23 เท่าสูงเชียว ส่วนตัวผมก็จะไม่ค่อยชอบ

MSCI China Information Technology จะมีหุ้น Xiaomi, Sunny Optical, Xinyi Solar, etc. อันนี้ดู P/E 17.54 เท่า ต่ำกว่าเยอะเลย ค่อยดูเข้าท่า แต่ก็ดูเหมือนเป็นหุ้นบริษัทคนละชุดกับที่คนส่วนใหญ่สนใจนะ คือไม่ใช่พวก Tencent, Alibaba อะไรพวกนี้

สรุปแล้วคือผมว่าหุ้นเทคโนโลยีจีนน่ะดี แต่ก็ดูเหมือนจะมีแพงนะ ใช้วิจารณญาณประกอบในการพิจารณาด้วย

หุ้นจีนรายตัว
ความเห็นผมเรื่องนี้ก็จะแปลกออกไปจากปกตินิดนึง คือส่วนตัวผมลงทุนแบบหุ้นรายตัวอย่างที่หลายคนทราบอยู่แล้ว และปกติผมก็จะแนะนำให้คนอื่นเลือกลงทุนหุ้นรายตัวด้วย เพราะผมมีความเชื่อว่าการทำแบบนั้นทำให้เราสามารถซื้อได้บริษัทที่ดีในราคาถูกและผลตอบแทนดีกว่าการซื้อเหมาเข่งแบบกองทุน

แต่สำหรับหุ้นจีนนี่ ผมว่าซื้อหุ้นจีนด้วยกองทุนรวมน่าจะดีกว่า ด้วยเหตุผลว่า
1. การอ่านภาษาจีนนี่เป็นเรื่องยาก
บางคนอาจจะบอกว่า ก็เอารายงานเค้ามาใส่ Google Translate ก็ได้นี่ อันนั้นจริงครับ แต่ปัญหามันไม่ได้เกิดตรงนั้น ปัญหามันเกิดตอนเราต้องการจะหาข้อมูลแวดล้อมอื่น เช่นอย่างมีหุ้นเหล้าที่ผมเคยสนใจดูอยู่ ผมอยากรู้ว่าอุตสาหกรรมนี้ของจีนมีใครเด่นบ้าง หรือในธุรกิจนี้มีกฎหมายหรือข้อจำกัดหรืออะไรมั้ย เค้าแข่งกันยังไงนะ เรื่องพวกนี้มันจะหายากมากละ คือเราต้องพิมพ์ภาษาจีนลงไปใน search บางทีเราก็ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร หรือคำที่ใช้ก็อาจจะไม่ค่อยตรง แล้วผลลัพธ์ที่หาได้มันก็มีหลายหน้าโผล่มา แล้วเราก็จะอ่านไม่ออกว่าอันไหนน่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับที่่เราต้องการ เราก็ต้องเปิดสุ่มอีก

2. ข่าวสาร เกิดอะไรขึ้นเราจะไม่ค่อยรู้เรื่อง
นอกจากหาข่าวสารบางทีจะหายากแล้ว บางทีก็มาช้า หรือข้อมูลที่มีเป็นภาษาอังกฤษก็จำกัด นึกภาพตอนเค้าจัดการธุรกิจกวดวิชา ที่เป็นข่าวดังจริงๆที่เราได้ยินก็จะเป็นโรงเรียนกวดวิชานะ แต่จริงๆในช่วงเวลานั้นเค้ามีออกกฎจัดการกับโรงเรียนที่เป็น international แล้วก็โรงเรียนระดับประถมมัธยมด้วย เรื่องพวกนี้ไม่ค่อยออกข่าว เราจะเห็นแค่แบบหุ้นตกเพราะคนจีนรู้ แต่เราจะไม่รู้เรื่องเลยว่ามันเกี่ยวอะไร ก็อาจจะนึกว่าโดนแค่กวดวิชานี่หว่า

3. นโยบายภาครัฐรุนแรงจัด
บางทีถ้าเราถือหุ้นผิดธุรกิจนี่คือเละแบบไม่ฟื้นได้เลยถ้าโดนภาครัฐเพ่งเล็ง

ดังนั้นโดยรวมผมเลยมองว่าการถือหุ้นจีนรายตัวนี่เป็นอะไรที่เสี่ยงมาก และส่วนตัวตอนนี้เลยไม่ค่อยนิยมจะลงทุนแบบรายตัวในหุ้นจีนละครับ

สรุปรวมทั้งหมดคือผมมีมุมมองที่ดีกับหุ้นจีนแหละ แต่ก็คิดว่าถ้าอ่านจีนไม่ออกซื้อกองทุนดีกว่า และถ้าต้องเลือกระหว่างหุ้นจีนโดยรวมกับหุ้นเทคโนโลยีจีน ส่วนตัวผมเทไปทางหุ้นจีนโดยรวมนะเพราะรู้สึกว่าหุ้นเทคโนโลยีจีนดูแพงครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

สถานการณ์เรื่อง Supply chain ปัจจุบันเป็นยังไงบ้างแล้ว ?

What's the situation with the supply chain now

สถานการณ์เรื่อง Supply chain ปัจจุบันเป็นยังไงบ้างแล้ว ?

ส่วนตัวผมก็สงสัยอยู่ซักพักละว่าสถานการณ์ปัจจุบันของ supply chain ทั่วโลกตอนนี้เป็นยังไงบ้างกันแน่ เพราะเรื่องนี้มันมีผลกับเงินเฟ้อว่าจะมีโอกาสดีขึ้นแล้วหรือยัง ก็พอดีว่ามาเจอบทความที่พูดถึงเรื่องนี้ของ Morningstar พอดี ผมว่าเนื้อหาดีมากก็เลยเอามาเล่าให้ฟังครับ และเผื่อใครสนใจอ่านด้วยตัวเองผมทิ้งลิ้งค์ไว้ตรงนี้ https://www.morningstar.com/articles/1096095/where-does-the-supply-chain-crisis-stand-now

จากมุมมองของ Morningstar คือเริ่มมีสัญญาณว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ถึงแม้ว่าในบางอุตสาหกรรมยังมีปัญหาอยู่

ประเด็นเรื่อง supply chain ในเวลานี้เป็นจุดสนใจหลักของนักลงทุน เพราะมันเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะทำให้เงินเฟ้อที่สูงผิดปกติในช่วงนี้ลดลงได้ ความหวังในตอนต้นปีคือเราคาดหวังว่าปัญหาการติดขัดของ supply chain จะดีขึ้นช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ แต่ก็อย่างที่รู้คือมันมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างสงครามยูเครนกับการปิดเมืองของจีนที่โผล่เข้ามา ทำให้ตอนนี้เกือบทุกบริษัทก็จะมีปัญหาเรื่อง supply chain บ้างไม่มากก็น้อย กลุ่มธุรกิจที่โดนผลกระทบเยอะสุดก็จะเป็นพวก semiconductors, รถยนต์, อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ, ค้าปลีก และร้านอาหาร

กลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเล
พวกบริษัทที่ให้บริการเดินเรือขนส่งช่วงที่ผ่านมานี้ก็จะกำไรดี เพราะความต้องการที่สูงขึ้นมาทำให้อัตราค่าขนส่งสูงขึ้น และในเวลานี้หลายบริษัทพยายามทำสัญญาระยะยาวมากขึ้นเพื่อให้ชัวร์ว่าสามารถขนส่งสินค้าได้ ไม่เหมือนก่อนช่วงปีโควิดที่เป็นลักษณะจะใช้เมื่อไหร่ก็จ้าง ซึ่งแปลว่าต้นทุนการขนส่งที่แพงขึ้นนี้ก็อาจจะอยู่ไปซักพัก จะไม่ได้สามารถปรับตามสถานการณ์ตลาดได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนเรื่องดีเลย์ ตอนนี้ช่วงสามเดือนแรกของปีเฉลี่ยอยู่ที่ 7 วัน ซึ่งเกือบเป็นสองเท่าของปี 2019 และสัดส่วนของสินค้าที่ถูกส่งได้ตรงเวลาคือประมาณ 36% ไม่ถึงครึ่งของช่วงเวลาปกติ

กลุ่ม Semiconductors
Semiconductors เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของความคลาดแคลนในช่วงที่ผ่านมา เพราะมันต้องใช้ในธุรกิจที่หลากหลายเหลือเกิน การปิดจากโควิดทำให้การผลิตตัวชิปขาดช่วง แล้วก็ไปทำให้อุตสาหกรรมอื่นได้รับผลกระทบ

บริษัทอย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing (TSM) เน้นไปผลิตชิปที่มูลค่าสูงเพราะกำไรดีกว่า ชิปพวกนี้ใช้ในสมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์, ฯลฯ บริษัทอย่าง Apple, Nvidia, AMD พวกนี้คือต้องใช้ชิปที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่คุณภาพสูง

ส่วนชิปที่ธรรมดาลงมาใช้เทคโนโลยีเก่ากว่า ปกติใช้ในรถยนต์, อุปกรณ์เน็ตเวิร์ค, เครื่องจักรในโรงงาน, ฯลฯ ซึ่งไม่ได้กำไรดีมากสำหรับผู้ผลิต ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับความสนใจ แต่เราเชื่อว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนเพราะตลาด personal computer เริ่มชะลอตัวลง น่าจะทำให้ผู้ผลิตหันไปผลิตชิปประเภทอื่นมากขึ้น

ในระยะยาวแล้วสถานการณ์ดูดีขึ้น บริษัทในอุตสาหกรรม Semiconductors เริ่มมีมาตรการป้องกันการขาดแคลนมากขึ้น อย่างเช่นปัจจุบันการผลิตชิปส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย หลายบริษัทตอนนี้กำลังลงทุนเพื่อให้ผลิตในทวีปอื่นด้วย Taiwan Semiconductor, Samsung, Intel พวกนี้เพิ่มกำลังการผลิตใน US

รัฐบาลสหรัฐก็กำลังพิจารณาออกกฎหมายที่ช่วยสนับสนุนการผลิต Semiconductor ในอเมริกา ปัจจุบันทั้งสภาสูงและสภาล่างผ่านกฎหมายเวอร์ชั่นของตัวเองแล้ว แต่เวอร์ชั่นที่ตกลงร่วมกันยังอยู่ในกระบวนการอยู่

และจากเดิมที่ดำเนินธุรกิจแบบ lean มี inventory น้อยๆ ตอนนี้ก็บริษัทชิปเริ่มมี inventory บ้างเพื่อเผื่อเหตุการณ์ supply chain ขาด

ทั้งนี้ในระยะสั้น สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจจะทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับการผลิตชิปเช่น neon, palladium บริษัทที่ผลิตเครื่องจักรกับเทคโนโลยีสำหรับการผลิตชิปเช่น ASML Holdings ก็อาจจะส่งมอบล่าช้าเพราะความขาดแคลนชิป ทำให้การขยายการผลิตอาจจะล่าช้าออกไป

กลุ่มรถยนต์
กลุ่มรถยนต์ก่อนหน้านี้ก็ขาดแคลนชิปเพราะโควิดระบาด ทำให้มีการขาดแคลนรถใหม่และทำให้รถมือสองราคาสูงขึ้น

ในยุโรปผู้ผลิตรถยนต์ได้รับผลกระทบจากสงคราม ผู้ผลิตระบบไฟในรถยนต์ซึ่งผลิตให้กับ Volkswagen กับ BMW อีกทีต้องปิดโรงงานในเยอรมณีไปสองโรง

ในอเมริกา Ford กับ General Motors ก็เจอปัญหาชิ้นส่วนขาดในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตามรายงานของ Reuters ช่วงปลายมีนาคมการขาดแคลนชิปทำให้ต้องหยุดการผลิตของโรงงานใน Michigan ซึ่งผลิตรถรุ่น Mustang General Motors ก็มีต้องหยุดการผลิตไปชั่วคราวเพราะ “ขาดชิ้นส่วน” เช่นกัน

ภาพรวมคือ inventory ต่ำลงมากในช่วงปีที่แล้ว ตอนนี้ดูทรงตัวละ คาดว่ากำลังการผลิตรถใหม่เริ่มสูงขึ้น

ส่วนราคารถมือสองในช่วงหลังนี้ก็ต่ำลง สอดคล้องกับภาพที่เราเข้าใจว่าสามารถผลิตรถยนต์ได้เยอะขึ้น

กลุ่มร้านอาหาร
เดือดร้อนจากทั้งราคาต้นทุนอาหารที่สูงขึ้นและค่าจ้างพนักงานเลยทีเดียว
อันนี้คือให้ดูว่าราคาต้นทุนอาหารแพงขึ้นขนาดไหนในช่วงที่ผ่านมา สินค้าบางประเภทแพงขึ้นเกินเท่าตัวในช่วงสามปีมานี้

และอันนี้แสดงตัวการเติบโตของรายได้กับอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของกลุ่มร้านอาหารใน US จะเห็นว่าทั้งหมดรายได้สูงขึ้นแหละ แต่ส่วนใหญ่เจอปัญหาว่าต้นทุนกับค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเร็วกว่าซะจนอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานหดตัวลง

สรุปแล้วคือตอนนี้ภาพรวมยังมีปัญหาอยู่นะ ยังไม่คลี่คลายเท่าไหร่ และดังนั้นโดยส่วนตัวผมก็เชื่อว่าเงินเฟ้อจะยังสูงไปอีกพักใหญ่เลย

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

ลงทุนแนวลอกการบ้าน ได้ผลมั้ย ?

Does copycat ETF work?

ลงทุนแนวลอกการบ้าน ได้ผลมั้ย ?

ผมไปอ่านเจอบทความอันนึงน่าสนใจ มันเป็นของคุณ Joachim Klement, CFA เค้าพูดถึงแนวการลงทุนแบบพิเศษแบบหนึ่ง นั่นคือการลงทุนแบบลอกการบ้าน เผื่อใครสนใจอ่านผมทิ้งลิ้งค์ไว้ให้ครับ https://blogs.cfainstitute.org/investor/2021/09/22/does-guru-investing-work/

พื้นฐานไอเดียของวิธีการนี้ก็คือ แทนที่เราจะมานั่งคิดเองว่าจะลงทุนในหุ้นอะไรหรือลงทุนในกองทุนอะไร ทำไมไม่ดูรายงานรายไตรมาสของนักลงทุนที่มีชื่อเสียงหรือ hedge fund แล้วก็ลงทุนตามไปเลยล่ะ

มันก็มีคนทักว่า การลอกการบ้านแบบนี้อาจจะไม่ได้ผลนะ เพราะยังไงก็ลอกไม่เหมือนมันต้องมีช้ากว่าไปบ้างในเมื่อเราเห้นแค่รายงานไตรมาสละครั้ง เราก็ไม่สามารถซื้อหรือขายได้ที่ราคาเดียวกับเค้าหรอก

แต่ถ้านักลงทุนที่มีชื่อเสียงพวกนั้นเป็นนักลงทุนแนวระยะยาวล่ะ ถ้าหาคนที่ไม่ได้ลงทุนในพวกอนุพันธ์หรือตราสารทุนที่อยู่นอกตลาดล่ะ วิธีการแบบนี้ก็น่าจะได้ผลสิ

แถมสิ่งที่ดีไปกว่านั้นคือปกติพวกกองทุนแบบ hedge fund ค่าธรรมเนียมมันแพงด้วยเช่น 2% ในขณะที่กองทุนแบบเลียนแบบพวกนี้ก็จะค่าธรรมเนียมต่ำกว่า

เพื่อเป็นการพิสูจน์คอนเซปต์ เค้าก็เอา ETF ที่ใช้กลยุทธ์แบบนี้มาเทียบกับ benchmark ดูว่าสรุปแล้วมันได้ผลหรือเปล่า ซึ่งมี ETF ดังนี้
The Global X Guru Index ETF (GURU)
The AlphaClone Alternative Alpha ETF (ALFA)
The Goldman Sachs Hedge Industry VIP ETF (GVIP)
The Motley Fool 100 ETF (TMFC)

The Global X Guru Index ETF (GURU)



เท่าที่ดูแบบนี้คือสู้ไม่ได้นะ ข้อมูลบนเวปก็บอกชัดอยู่ว่า Sharpe ratio ต่ำกว่า และผลตอบแทนจริงๆก็สู้ S&P 500 Total Return ไม่ได้

The AlphaClone Alternative Alpha ETF (ALFA)


อันนี้ก็ผลตอบแทนแพ้เช่นเดียวกัน ส่วนเรื่องความเสี่ยงไม่ได้มีบอกไว้บนเวป ทีมเราเลยดึงข้อมูลจาก Bloomberg Terminal ได้ความว่า Annualized Volatility ของ AlphaClone Alternative Alpha ETF ตั้งแต่จัดตั้งเท่ากับ 20.85% เทียบกับของ S&P 500 Total Return Index ในช่วงเวลาเดียวกันที่ 16.68% ดังนั้นถ้าดูประกอบกับผลตอบแทนที่แย่กว่าก็สรุปได้ว่าแพ้แน่นอน และ Sharpe Ratio ต่ำกว่าแน่นอนเพราะผลตอบแทนต่ำกว่าในขณะที่ความผันผวนสูงกว่า

The Goldman Sachs Hedge Industry VIP ETF (GVIP)

อันนี้ดูดีขึ้นมาหน่อย ผลตอบแทนโดยรวมจนถึงปัจจุบันแพ้อยู่เล็กน้อย แต่เท่าที่เห็นคือมีช่วงที่ชนะ S&P 500 Total Return อยู่ซักพักใหญ่ เพิ่งตกลงมารุนแรงกว่าจนผลตอบแทนเท่าๆกันเมื่อช่วงหลังมานี้

ส่วนเรื่องความผันผวน ข้อมูลจาก Bloomberg Terminal ได้ความว่า Annualized Volatility ของ The Goldman Sachs Hedge Industry VIP ETF ตั้งแต่จัดตั้งเท่ากับ 21.96% เทียบกับของ S&P 500 Total Return Index ในช่วงเวลาเดียวกันที่ 19.12% ก็คือผันผวนมากกว่าด้วย

The Motley Fool 100 ETF (TMFC)
3 อันด้านบนนั้นเป็นกองที่เอาไอเดียจากหลาย Hedge fund รวมกัน ส่วนอันนี้ต่างออกไปหน่อยคือเอาหุ้น US ใหญ่สุด 100 บริษัทที่ถูกแนะนำโดย The Motley Fool

อันนี้ชนะดัชนี ผลตอบแทนต่อปีห่างพอสมควรด้วย แต่อย่างไรก็ดีเป็นกองค่อนข้างใหม่เพิ่งตั้งเมื่อ 2018 เท่านั้นเอง

ส่วนเรื่องความเสี่ยง ก็ต้องคำนวณเองเช่นกัน Annualized Volatility ของ The Motley Fool 100 ETF ตั้งแต่จัดตั้งเท่ากับ 23.44% เทียบกับของ S&P 500 Total Return Index ในช่วงเวลาเดียวกันที่ 21.38% ความผันผวนสูงกว่า ส่วน Sharpe Ratio ช่วง 5 ปีของ The Motley Fool 100 ETF อยู่ที่ 0.82 และของ S&P 500 Total Return Index อยู่ที่ 0.72 ดังนั้นดูเหมือนกองทุนนี้จะทำได้ดีอยู่นะ

สรุป : มันดูคล้ายกองทุนทั่วไปที่ก็มีบางกองที่ชนะและหลายกองที่แพ้ตลาดโดยเฉลี่ย ไอเดียนี้ดูเหมือนจะไม่ได้มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษครับ
 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

สถานการณ์ตลาดหุ้น May 2022 – นี่มันโอกาสหรือวิกฤติ ?

May 2022 - Is it the time to buy ?

สถานการณ์ตลาดหุ้น May 2022 – นี่มันโอกาสหรือวิกฤติ ?

ช่วงนี้รู้สึกมีหลายคนแม้กระทั่งนักเรียนของเราที่ถามความเห็นเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ และมีความสงสัยว่าช่วงนี้ถือว่าเป็นโอกาสในการซื้อหรือไม่ หรือควรจะถือเงินสดรอดี วีดิโอนี้ผมพูดจากมุมมองผมครับ

ก่อนอื่นเพื่อความไม่สับสน ผมบอกชัดๆก่อนเลยว่าโดยส่วนตัว ผมมองสถานการณ์การลงทุนตอนนี้ว่าเป็นโอกาส เป็นโอกาสที่จะซื้อหุ้นดีในราคาถูก เพราะผมเชื่อว่าความเสี่ยงในเวลานี้เป็นเรื่องชั่วคราวครับ และเพื่อให้เข้าใจตรงกันสำหรับคนไม่รู้จักผมมาก่อน ระยะเวลาการรอ 2-3 ปีสำหรับผมคือสั้นนะครับ

เราพูดถึงเทรนด์ภาพกว้างก่อน เรามองภาพเศรษฐกิจช่วงยาวหลายปีนิดนึง
2019 เศรษฐกิจโลกก็ยังเติบโตดีๆอยู่ไม่มีอะไรถูกมะ
2020 ก็มีโควิดโผล่เปรี้ยงขึ้นมา ทำให้เศรษฐกิจหดตัว ซึ่งอันนี้ก็เข้าใจได้เพราะประเทศจำนวนมากปิดธุรกิจปิดการเดินทาง จงใจหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ปีนี้นี่มี deflation เลย คือราคาสินค้าบริการตกต่ำลงเยอะมาก เพราะความต้องการอยู่ๆก็หายวูบไป โชคดีเรามีวัคซีนโผล่มาตอนปลายปี
2021 เป็นปีแห่งการเร่งฉีดวัคซีนใช่มะ เศรษฐกิจประเทศไหนที่ฉีดวัคซีนได้เยอะแล้วเริ่มเปิดกลับมาให้คนใช้ชีวิตปกติ ประเทศนั้นเศรษฐกิจก็ฟื้นตัว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่วงปลายปี ช่วงนี้เศรษฐกิจโตและเงินเฟ้อก็โตพรวดเลยจากการที่อยู่ๆความต้องการในสินค้าและบริการก็สูงขึ้นมาพร้อมๆกัน
2022 ก็คือปีนี้ ซึ่งจริงๆถ้าไม่นับเหตุการณ์พิเศษอย่างสงคราม ภาพรวมคือประเทศส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนได้เยอะละหรือไม่ก็มีคนติดโควิดไปเยอะละประชาชนเลยมีภูมิ ประเทศต่างๆเปิดมาปกติให้คนใช้ชีวิต การท่องเที่ยวควรจะเป็นภาคธุรกิจต่อไปที่จะฟื้น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็มองว่าเงินเฟ้อที่สูงน่าจะคลี่คลายลงเมื่อภาคการผลิตกลับมา หรืออย่างน้อยก็น่าจะไม่เป็นปัญหามากเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางสามารถจัดการได้ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย มันเป็นปีแห่งการกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เป็นช่วงของการฟื้นตัวนะ

แล้วจริงๆตัวเลขพวกเรื่องการท่องเที่ยวก็บบ่งชี้ไปทางการฟื้นตัวชัดเจนนะ
• ตัวเลขคนเดินทางของ US กลับมาประมาณ 90% เทียบกับปี 2019 ละ

• Fraport ที่บริหารสนามบินในยุโรปหลายแห่ง เค้าก็บอกว่าไตรมาสแรกปีนี้ ตัวเลขดีขึ้นกว่าปีที่แล้วอย่างก้าวกระโดด ถึงแม้ว่าจะยังห่างจากปี 2019

• ตัวเลขรายได้ไตรมาสแรกของ Booking Holdings กับ Expedia ที่ทำธุรกิจนายหน้าเวปจองตั๋วเครื่องบินโรงแรมก็ทำได้ดีขึ้นชัดเจน

นั่นคือภาพรวมของเทรนด์ภาพใหญ่ แต่ทีนี้ปี 2022 ก็ดันมีเหตุการณ์ที่ไม่มีทางเดาได้เลยโผล่มาทำให้การฟื้นตัวอาจจะสะดุด คนกังวลว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ฟื้นตัวดีอย่างที่คาด หรือเผลอๆถดถอยด้วยซ้ำ และความกลัวนี้ก็เป็นประเด็นว่าทำไมหุ้นช่วงนี้มันตกกันจัง

แล้วทำไมคนกังวลว่าจะมีเศรษฐกิจถดถอยล่ะ เรื่องหลักคือมาจากเงินเฟ้อที่สูงบวกกับการที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆอาจจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นมากเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ และสองเรื่องนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจถดถอย

เรื่องเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อที่สูง อันนี้ก็เป็นประเด็นจริงๆ เพราะการที่ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มันต้องมีผลทำให้คนบริโภคน้อยลงแน่นอนอยู่แล้วครับ และถ้าคนบริโภคน้อยลงการลงทุนผลิตสินค้าก็จะน้อยลงเป็นธรรมดา แล้วมันจะมีผลต่อเศรษฐกิจแน่ขึ้นอยู่กับว่าเงินเฟ้อนี่สูงขนาดไหนและสูงอยู่นานหรือเปล่า อย่างดีก็อาจจะทำให้ปีนี้ที่ควรจะเศรษฐกิจฟื้นตัวฟื้นน้อยกว่าที่คาด หรืออย่างเลวร้ายอาจจะถึงกับเศรษฐกิจถดถอยทีเดียว

ซึ่งปัญหาในเวลานี้คือมันดูมีแววจะสูงอยู่นานไง เป็นเพราะมันมีปัจจัยไม่คาดคิดอย่างราคาพลังงานที่สูงขึ้นมากจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือ Zero-COVID policy ของจีนที่อาจจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีปัญหาได้ แล้วก็ยังมีอินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม อินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลี เรื่องอะไรพวกนี้มันเป็นส่งผลให้เงินเฟ้อสูงจากฝั่งของ supply โดยรวมมันก็เป็นความเสี่ยงที่สูงขึ้นจริงๆ

เรื่องความพยายามในการควบคุมเงินเฟ้อ
ทีนี้พอเงินเฟ้อสูงบวกกับช่วงที่ผ่านมาอัตราการว่างงานก็ต่ำ ธนาคารกลางในหลายประเทศก็กลัวว่าเศรษฐกิจจะร้อนแรงเกินไปแล้วมีปัญหาในภายหลัง เค้าก็พยายามที่จะควบคุมเงินเฟ้อ ไม่อยากให้เงินเฟ้อมันสูงเป็นระยะเวลานานเกินไป ธนาคารกลางในหลายประเทศก็เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นเพื่อลดความต้องการของคนในประเทศ เงินเฟ้อจะได้ลด

สิ่งที่คนกลัวคือ ในเวลานี้เงินเฟ้อมันมาจากปัจจัยฝั่ง supply ด้วย ไม่ใช่แค่จากความต้องการสินค้าบริการอย่างเดียวละ การปรับอัตราดอกเบี้ยที่มากเกินไป อาจจะทำให้ความต้องการสินค้าบริการหดตัวเยอะเกิน จนกลายเป็นเศรษฐกิจหดตัวได้ หรือถ้าปรับน้อยไปช้าไปก็อาจจะทำให้เงินเฟ้อสูงอยู่นานเกินไป มีผลกระทบกับเศรษฐกิจอยู่ดี Fed เองล่าสุดก็บอกอยู่ว่าเค้าไม่สามารถการันตีได้ว่าเศรษฐกิจจะ soft landing นะ อาจจะเป็น hard landing ก็ได้

รวมๆสองปัจจัยนี้ก็เลยทำให้คนกังวลว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะไม่ดีนะ แล้วก็เลยทำให้หุ้นตกครับ

แล้วทำไมผมถึงมองว่าเป็นโอกาสล่ะ ไหนบอกว่ามันมีโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยไง
• โอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยมี แต่มันไม่ได้ว่าจะเกิดแน่นอนนะ อาจจะแค่โตน้อยกว่าที่คาดแต่ยังเติบโตอยู่ก็เป็นไปได้ เพราะความต้องการในการบริโภคยังมีอยู่ และคนก็มีเงินเก็บด้วยจากการที่ช่วงโควิดที่ผ่านมาอั้นการใช้จ่ายมา การจ้างงานก็อยู่ในระดับสูง
• ถึงจะมีเศรษฐกิจถดถอย มันก็ไม่ได้ดูสถานการณ์จะเลวร้ายไปกว่าตอนวิกฤติ 2008 ที่บริษัทจะเจ๊ง อันนี้อย่างมากก็แค่ของแพงและคนซื้อน้อยลงเท่านั้นเอง
• เงินเฟ้อที่สูงก็ไม่น่าจะอยู่ระยะยาว ดูจะมาจากปัจจัยชั่วคราวมากกว่า สงครามก็ไม่ใช่ว่าจะสู้กันไปเรื่อย การผลิตน้ำมันเมื่อเวลาผ่านไปก็เพิ่มขึ้นได้ จีนก็ไม่มีทางปิดประเทศยาวนานจนกระทบเศรษฐกิจตัวเองแน่
• สุดท้ายเลยคือ บริษัทที่เข้มแข็งน่าจะรอดผ่านเงินเฟ้อสูงไปได้สบายๆไม่มีปัญหา ความเสี่ยงที่บริษัทที่เข้มแข็งจะเจ๊งเลยจากสถานการณ์แค่นี้แทบเป็นไปไม่ได้ ราคาหุ้นตกเละเทะกลายเป็นโอกาสสำหรับเรามากกว่าตราบใดที่เราถือยาวได้ซักอย่างน้อยสองสามปี

 
ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

ได้ข่าวว่า US GDP ไตรมาส 1 ตก สถานการณ์มันแย่ขนาดนั้นแล้วเหรอ ?

US Real GDP dropped in Q1 2022. Is the situation that bad?

ได้ข่าวว่า US GDP ไตรมาส 1 ตก สถานการณ์มันแย่ขนาดนั้นแล้วเหรอ ?


มีคนถามเกี่ยวกับข่าวล่าสุดเข้ามา เรื่องที่บอกเศรษฐกิจสหรัฐมีการหดตัว อันนี้เกิดอะไรขึ้นแล้วมันน่ากังวลขนาดไหน

เอาจริงๆผมเห็นข่าวก็ตกใจเหมือนกันนะ เพราะเมื่อปีที่แล้วปลายปีเรายังเห็นข่าวว่า GDP เติบโตอยู่เลย แล้วบวกกับปีนี้ต้นปีก็เป็นช่วงที่คนคลายความกังวลเรื่องโอมิครอนด้วยดังนั้นการบริโภคการใช้เงินก็ควรจะอยู่ในช่วงฟื้นตัว ข่าวเรื่องการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นผู้บริโภคของอเมริกาตัวเลขก็ยังดีอยู่นี่หว่า อะไรมันจะกลับทิศเร็วขนาดนั้น ถ้าเป็นจริงก็น่าตกใจมากอยู่นะ

ผมเลยไปตามหาที่มาของตัวเลขว่ามาจากไหน แล้วก็พบว่ามันเป็นตัวเลขประกาศโดย Bureau of Economic Analysis เป็นหน่วยงานของรัฐบาลแหละ

สิ่งที่เจอคือ
1. ที่บอก -1.4% นั่นคือตัวเลข Real GDP growth ไม่ใช่ GDP growth ตัวเลข GDP จริงๆเติบโตแหละ แต่เงินเฟ้อมันสูงถึง 8% เลยทำให้ Real GDP ติดลบ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าดีนะ แต่ดีขึ้นกว่าบอกว่าการเติบโตของ GDP ติดลบ
2. ถ้าไปดูแยกย่อยในรายละเอียดก็จะเห็นว่า
a. Private inventory investment ลดลง
b. Net exports ลดลง
c. Government spending ลดลง
d. Personal consumption expenditure สูงขึ้น
e. Private fixed investment โดยเฉพาะ Equipment สูงขึ้น
f. Inflation สูงจัด

ถ้าเห็นแบบนี้ส่วนตัวผมก็ว่าภาพดูยังดีอยู่นะ การลดลงของ inventory นี่ก็คืออาจจะมาจากการที่ความต้องการสินค้าสูงก็เป็นไปได้ และเลขนี้ปกติก็แกว่งอยู่แล้ว ส่วน Government spending ลดลงก็ปกติอยู่นะ เค้าเลิกนโยบายให้ความช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วนี่ ส่วนเลขที่เป็นเรื่องสำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ของความต้องการในสินค้าและบริการของทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจก็ดูดีขึ้นหมดนะ Imports สูงขึ้น การลงทุนใน Fixed investment สูงขึ้น การบริโภคสูงขึ้น

สรุปคือ อย่างน้อยในเวลานี้เศรษฐกิจของอเมริกาก็ไม่ได้ถึงกับดูเลวร้ายมาก แต่อย่างไรก็ดีอนาคตไม่แน่ การที่เงินเฟ้อสูงมากเป็นเวลานานก็น่าจะต้องมีผลกับระดับการบริโภคของคนในที่สุด

สำหรับคนที่สนใจอ่านเอกสารตัวจริงที่มีตารางข้อมูล ผมทิ้งลิ้งค์ไว้ให้ครับ https://www.bea.gov/sites/default/files/2022-04/gdp1q22_adv.pdf แต่เข้าใจไว้นิดนึงว่าอันนี้เป็นตัวเลขประมาณการนะ ยังไม่ใช่ตัวเลข final

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

ธุรกิจกลุ่มไหนเป็นผู้ชนะ ในช่วงเงินเฟ้อสูง ?

Which industry do well during high inflation?

ธุรกิจกลุ่มไหนเป็นผู้ชนะ ในช่วงเงินเฟ้อสูง ?

ธุรกิจกลุ่มไหนทำได้ดีในช่วงเงินเฟ้อ ?

เงินเฟ้อที่สูงและดูเหมือนจะสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ถ้าสมมติเงินเฟ้อจะสูงแบบนี้เป็นระยะเวลานานเราควรจะลงทุนในหุ้นธุรกิจกลุ่มไหนดี

ที่มาของเงินเฟ้อที่สูงในครั้งนี้ แต่แรกเริ่มเลยมาจาก
• ความต้องการสินค้าและบริการของคนจำนวนมาก เกิดขึ้นในระยะเวลาเดียวกันช่วงหลังปี 2021 ที่หลายประเทศคลาย lockdown และคนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ
• รัฐบาลทั่วโลกกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการคลังและการเงิน
• ภาคการผลิตและ supply chain รองรับไม่ทัน

แล้วก็มาเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดซ้ำเข้าไปอีก
• สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานและสินค้าเกษตรสำคัญอย่างข้าวสาลีสูงขึ้นมาก
• โควิดระบาดในจีน รัฐบาลจีนใช้นโยบาย lockdown ต้องการให้ zero-COVID ซึ่งจะกระทบกับโรงงานและ supply chain แน่ๆ และอาจจะทำให้ราคาสินค้าข้าวของแพงขึ้นไปอีก

ในทางทฤษฎีแล้ว การลงทุนในหุ้นควรจะสามารถป้องกันผลของเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่ง เป็นเพราะบริษัทต่างๆก็ควรจะสามารถปรับราคาสินค้าขึ้นได้ ดังนั้นรายได้ก็ควรจะเติบโตและกำไรก็ควรจะสูงขึ้นเป็นการชดเชยผลของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้

แต่ในทางปฏิบัติ ความสามารถในการผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้ลูกค้าไม่ได้ทำได้เท่ากันทุกบริษัท บางบริษัทที่ผลักภาระได้น้อยก็จะกลายเป็นว่าต้นทุนราคาสูงขึ้นเร็วกว่ารายได้ที่เติบโต บริษัทพวกนี้ Net Profit Margin ก็จะหดน้อยลง ส่วนบริษัทที่ผลักภาระได้ดีเป็นพิเศษบางทีต้นทุนที่สูงขึ้นโตช้ากว่าราคาขายกลายเป็นว่า Net Profit Margin ขยายดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อสูงผิดปกติ หุ้นบางกลุ่มธุรกิจก็อาจจะได้เปรียบอีกกลุ่ม ไม่ได้ว่าทำได้ดีทุกธุรกิจ

คำถามสำคัญต่อมาก็คือ ถ้าสมมติไม่ได้ดูหุ้นเป็นรายตัวนะ ดูเป็นกลุ่มธุรกิจ กลุ่มไหนนะที่ทำได้ดีในช่วงเงินเฟ้อสูง ?

เราก็ไปเจอว่ามีคนทำ study เรื่องนี้เหมือนกัน อันนี้กราฟของ Schroders ครับ เป็นกราฟที่แสดงผลตอบแทนของหุ้นใน US แบ่งตามกลุ่มธุรกิจในช่วงที่มีเงินเฟ้อสูงหรือช่วงที่เงินเฟ้อกำลังสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1973-2020

แกน X แสดงว่ามีช่วงที่ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อเป็นกี่ % ของทั้งหมด หรือก็คือวัดว่าธุรกิจกลุ่มนั้นชนะเงินเฟ้อสูงบ่อยแค่ไหน

ส่วนแกน Y วัดผลตอบแทนว่าผลตอบแทนเทียบกับเงินเฟ้อเป็นเท่าไหร่


ผลคือกลุ่มธุรกิจ Energy ที่่รวมพวกที่ทำเกี่ยวน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทำได้ดีมาก ทั้งในแง่ว่ามีโอกาสสูงที่จะชนะและชนะเป็น % ที่สูง ซึ่งอันนี้ก็น่าจะเข้าใจได้เพราะที่ผ่านมาเวลาที่เงินเฟ้อสูงมันมักจะมาจากสาเหตุคือต้นทุนพลังงานที่สูง ดังนั้นกลุ่มธุรกิจนี้จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์ก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลก


แต่ที่น่าตื่นเต้นคือ Equity REITs ซึ่งก็ผลตอบแทนดีกว่าเงินเฟ้อบ่อยอยู่ แสดงว่าที่ผ่านมาพวกกลุ่มนี้สามารถที่จะผลักภาระต่อให้กับลูกค้าได้ในแง่ของการขึ้นค่าเช่า และอาจจะได้ประโยชน์จากมุมที่ว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของอยู่ก็สูงขึ้นตามเงินเฟ้อด้วย เป็นอะไรที่ทำได้ดีกว่าที่เราคาดนะ

กลับกัน REIT ที่แย่คือ Mortgage REITs ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของตัวอสังหาริมทรัพย์แต่เป็นการลงทุนแบบให้ยืมเงินแล้วค้ำประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์แทน พวกนี้ก็จะลำบากเพราะอัตราผลตอบแทนมัน fixed ไปแล้วในระดับนึง โดนผลกระทบของเงินเฟ้อกินเข้าไปในผลตอบแทนเต็มๆ

ส่วนที่ชัวร์อยู่แล้วอย่าง Consumer Discretionary ก็เข้าใจได้ สินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่ได้ต้องจำเป็นต้องซื้อ ในเวลาที่เงินเฟ้อสูงก็จะเป็นอย่างแรกๆที่ผู้บริโภคหยุดซื้อ

กลุ่มที่เป็น IT เป็นเทคโนโลยีก็ดูเหมือนจะทำได้ไม่ดี เข้าใจว่าเป็นเพราะกระแสเงินสดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมันอยู่ในอนาคตไกลออกไป พอเงินเฟ้อสูงเลยทำให้ discount rate ที่ใช้สูงตาม คิดลดกลับมาก็เลยทำให้มูลค่าของบริษัทกลุ่มนี้ลดลงเยอะ


ส่วนอันที่เราแปลกใจก็จะเป็นกลุ่ม Utilities ที่ดูเหมือนจะชนะแค่ 50% เท่านั้น ทั้งที่ปกติน่าจะเป็นกลุ่มที่ผูกขาด เข้าใจว่าเป็นเพราะข้อจำกัดเรื่องการขึ้นราคาที่มาจากสัญญาที่ทำกับรัฐ


กลุ่ม Consumer Staples นี่ก็ตามคาดคือน่าจะชนะเงินเฟ้อได้ เพราะเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นที่คนต้องใช้และโดยปกติก็ไม่ใช่สินค้าราคาสูงอยู่แล้ว แต่ก็แปลกใจนิดนึงที่สู้เงินเฟ้อได้น้อยกว่า Equity REITs นะ

สรุปแล้วถ้าเราคาดว่าเงินเฟ้อจะสูงกว่าที่คาด การลงทุนในหุ้นกลุ่ม Energy, Equity REITs และ Consumer Staples ก็ดูเป็นทางเลือกที่ดี
 
ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

ตั้งใจจะลงทุนระยะยาว แต่ก็เผลอตกใจระยะสั้น ทำไงดี ?

How to stay focused on the long term?

ตั้งใจจะลงทุนระยะยาว แต่ก็เผลอตกใจระยะสั้น ทำไงดี ?

มีนักเรียนเราบางคนสารภาพนะครับว่า เข้าใจแหละว่าการลงทุนมันเป็นเกมระยะยาวและคนมองระยะยาวได้เปรียบ ทฤษฎีน่ะเข้าใจ แต่ทำจริงรู้สึกทำยาก บางทีก็ยังมีเผลอมองระยะสั้นหรือเผลอตื่นเต้นกับราคาหุ้นขึ้นลงรายวันอยู่ มีวิธีอะไรมั้ย

พูดตามตรง เรื่องนี้มันเป็นอะไรที่ต้องฝึกหัดน่ะครับ การที่เราจะเผลอมองระยะสั้นหรือติดตามราคาหุ้นตัวเองมันธรรมชาตินะ บวกกับในหนึ่งวันเราจะโดน bombard ด้วยข้อมูลข่าวเรื่องนู้นเรื่องนี้ที่ทั้งหมดแทบจะเป็นเรื่องระยะสั้นหมด ดังนั้นเราจะมีหลุดลืมมุมมองระยะยาวไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

ผมแนะนำสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะช่วยได้ดังนี้
1. เวลาดูกราฟราคา ดูช่วงยาว 10 ปีจะช่วยได้
เพราะหลายครั้งพอดูช่วงสั้นๆ มันจะเหมือนการขยับของราคามัน dramatic เหลือเกิน แต่เอาเข้าจริงมองช่วงยาวๆเราจะพบว่ามันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเท่าไหร่ เช่น



2. หยุดรับข่าวสารพวกราคาหุ้นวันนี้หรืออะไรพวกนั้น
พวกข่าวด่วน, Breaking News กับข่าวรายวันที่พูดถึงหุ้นขึ้นลงอะไรเท่าไหร่ มันเป็นธรรมชาติที่เค้าต้องพยายามพูดให้มันดูมีเรื่องราวมีอะไรอยู่ตลอดน่ะครับ ถ้าเราเผลอไปฟังมากๆเราก็จะรู้สึกว่ามีอะไรเคลื่อนไหว ต้องทำอะไรซักอย่างตลอดเวลา การจะรักษาความนิ่งของการลงทุนระยะยาวมันก็จะทำได้ยาก ถ้าเราเลิกฟังเรื่องพวกนี้มันก็จะช่วยได้มาก อย่าลืมว่าในระยะยาวแล้วผลประกอบการของบริษัทสำคัญสุด การที่ราคามันจะขึ้นหรือลงในช่วงสั้นๆ หรือมีเหตุทำให้คนตกใจในช่วงระยะเวลาสั้นๆ มันไม่ได้มีผลอะไรกับตัวบริษัทน่ะครับ

3. เอาเวลาไปอ่านรายงานไตรมาสล่าสุดของบริษัทแทน
แล้วคำถามคือ ถ้าไม่รับข่าวสารเรื่องการลงทุน งั้นเอาข่าวสารเรื่องอะไรแทน ผมแนะนำให้อ่าน Quarterly report ก็ได้ครับ อ่านไตรมาสล่าสุดว่าบริษัทเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจะรู้สึกมีความเข้าใจใกล้ชิดสิ่งที่บริษัททำอยู่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เรามองระยะยาวได้ง่ายขึ้น ไม่ค่อยตกใจ เพราะเรารู้ว่าบริษัทเราเป็นไงอยู่ มีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวบ้าง และดังนั้นถ้ามีเรื่องอะไรโผล่มากระทบราคาหุ้นแต่ดูไม่เกี่ยวอะไรกับธุรกิจของบริษัท เราก็จะไม่ค่อยตกใจเท่าไหร่

4. ฟังความเห็นเฉพาะพวกนักลงทุนที่เป็นระยะยาว Warren Buffett หรือคนอื่น
สุดท้ายคือ ถ้าเราจะต้องฟังความเห็นของนักลงทุนท่านอื่น เพราะเรารู้สึกยังไม่มั่นใจหรืออะไรก็แล้วแต่ พยายามฟังคนที่มันเป็นนักลงทุนระยะยาวหรือคนที่มองเกมยาวครับ เช่น Warren Buffett หรือ Howard Marks พวกนี้ ถ้าเราไปฟังนักลงทุนหรือใครที่มันเป็นสายระยะสั้น เค้าก็จะพูดสิ่งที่สำคัญสำหรับเค้าซึ่งคือระยะสั้น แล้วก็จะทำให้เขวไปเปล่าๆครับ ต่อให้มันเป็นเพื่อนเราก็เลิกฟังเค้าซะ

เท่าที่นึกออกก็ประมาณนี้นะ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

การปรับดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ทำงานยังไง ?

How does changing federal funds rate work?

การปรับดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ทำงานยังไง ?

มีคนถามว่าเวลา Fed ปรับอัตราดอกเบี้ย แล้วมันไปส่งผลต่อเศรษฐกิจ กระบวนการนี้มันทำงานยังไง

ก็เป็นคำถามที่ดี เพราะถ้าเอาแบบเป๊ะๆอย่างละเอียดถึงกระบวนการผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ตอนผมเรียนผมจำไม่ได้ว่าเค้าสอนเรื่องนี้หรือเปล่านะ เลยลองไปหาคำตอบมาครับ และที่จะเล่าต่อไปนี้คือที่อ่านเข้าใจมา

โดยภาพกว้างสุดก่อน นโยบายการเงินทำงานกับเศรษฐกิจโดยการกระตุ้น “ความต้องการสนค้าและบริการ” ในระบบเศรษฐกิจ เวลาที่ความต้องการต่ำกว่าความสามารถในการผลิตของระบบเศรษฐกิจ เงินเฟ้อก็จะต่ำและการว่างงานก็จะสูงขึ้น Fed สามารถช่วยได้โดยการกระตุ้นความต้องการให้สูงขึ้น ในทางกลับกันถ้าความต้องการสินค้าและบริการมันสูงเกินไป เกินขอบเขตที่ความสามารถในการผลิตของระบบเศรษฐกิจจะรองรับได้ เงินเฟ้อก็จะสูงและอัตราการว่างงานก็จะต่ำมากผิดปกติ ในกรณีนั้น Fed ก็สามารถที่จะช่วยได้โดยการทำให้ความต้องการสินค้าและบริการต่ำลง

ทีนี้ประเด็นคือ แล้วการที่เราได้ยินว่า Fed ปรับขึ้นปรับลงอัตราดอกเบี้ยนี่ มันทำงานยังไงไปเกี่ยวกับความต้องการสินค้าบริการยังไง

การปรับขึ้นปรับลงอัตราดอกเบี้ยที่เราได้ยินกันในข่าว เค้ากำลังพูดถึงการปรับ Federal funds rate ครับ Federal funds rate คืออะไร ขอให้นึกภาพแบบนี้ ในแต่ละวันประชาชนชาวอเมริกันก็มีการทำธุรกรรมซื้อขายนู่นนี่แบบไม่ใช้เงินสดผ่านบัตรเดบิต, บัตรเครดิต, การโอนเงิน, เช็ค, ฯลฯ เพื่อรองรับธุรกรรมเหล่านี้ธนาคารพาณิชย์ก็จะมีการเก็บสำรองเงินเป็นตัวเลขในบัญชีไว้ที่ Fed แล้วพอมีธุรกรรมเกิดขึ้นเค้าก็แค่โอนตัวบวกลบตัวเงินสำรองที่เป็นตัวเลขในบัญชีพวกนี้ไปๆมาๆระหว่างบัญชีของธนาคารต่างๆ และนอกจากนั้นธนาคารพาณิชย์ก็มีการสำรองเงินไว้เผื่อว่าต้องใช้สภาพคล่องมากกว่าที่คาดหรือเอาไว้สำรองให้เพียงพอตามกฎหมายหรือข้อกำหนดต่างๆ ธนาคารพาณิชย์สามารถที่จะยืมหรือให้ธนาคารอื่นยืมตัวเงินสำรองของตัวเองได้แล้วแต่สถานการณ์ของธนาคารนั้นๆ ดังนั้นอยากให้เห็นภาพว่าธนาคารพาณิชย์ใช้ตัวเงินสำรองที่อยู่กับ Fed นี้ทั้งในแง่ของแหล่งเงินทุนและเป็นการลงทุน Federal funds rate คืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ต้องจ่ายเพื่อยืมตัวเงินสำรองนี้ระยะสั้นๆ ปกติคือเป็นหน่วยวัน

Fed มีความสามารถที่จะปรับตัว Federal funds rate โดยการเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยที่ตัว Fed เองจ่ายให้กับธนาคารที่มีการฝากเงินสำรองไว้ที่ Fed ซึ่งก็จะไปมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับธนาคารพาณิชย์อื่นที่จะมายืมเงินสำรองเปลี่ยนตามไปด้วย ตรงนี้ก็คือมีผลต่อต้นทุนในการกู้ยืมเงินระยะสั้นระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน

พอต้นทุนการกู้ยืมเงินระยะสั้นมีการเปลี่ยนแปลง มันก็ไปมีผลกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ระยะสั้นให้กับคนอื่นๆต่อเช่นบุคคลทั่วไป, ธุรกิจและหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีผลกับอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นและ US Treasury Bills

ส่วนอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษเพราะมีผลกับการบริโภคของผู้บริโภคในสินค้าใหญ่เช่นบ้าน, รถ มีผลกับธุรกิจที่จะลงทุนในอุปกรณ์, เครื่องจักร มันจะไม่ได้ปรับตาม Federal funds rate โดยตรง มันจะเกี่ยวข้องกับความคาดหวังของคนที่มีต่อนโยบายทางการเงินกับสภาพเศรษฐกิจในตลอดช่วงระยะเวลาของตราสารหนี้มากกว่า ไม่ใช่ดูแค่ Federal funds rate ณ ปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ดังนั้น Fed เลยจะมีการสื่อสารว่าเค้าจะมีแผนการปรับอัตราดอกเบี้ยยังไงกับว่าสภาพเศรษฐกิจในเวลานี้เป็นยังไง ที่ทำไปคือเพื่อเป็นการชี้นำความคาดหวังของคนกับธุรกิจว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นยังไง แล้วก็ให้มันส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอีกที

เมื่อ Fed ทำการปรับลด Federal funds rate ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารปล่อยกู้ให้กับผู้บริโภคกับภาคธุรกิจต่ำลง ก็เป็นการทำให้มีการบริโภคสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสินค้ามูลค่าสูงอย่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, รถยนต์หรือบ้าน การที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านต่ำลงก็ทำให้คนรีไฟแนนซ์ได้ดอกเบี้ยต่ำลงและมีเงินไปซื้ออย่างอื่นเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้ธุรกิจมีโอกาสในการลงทุนมากขึ้นด้วย โครงการที่แต่เดิมอาจจะไม่คุ้มที่จะกู้เงินมาทำ ตอนนี้ก็อาจจะกลายเป็นดูเป็นไปได้มากขึ้นละเพราะต้นทุนในการกู้ยืมเงินต่ำลงและอาจจะเพราะคาดว่าจะขายของได้เยอะขึ้นด้วย

ส่วนถ้า Fed ทำการเพิ่ม Federal funds rate ก็มีผลกลับกัน

ประมาณนี้เลยครับ หวังว่าจะเห็นภาพมากขึ้นว่าการปรับ Fed rate มันคือเกิดอะไรขึ้นกันแน่

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

Fed สรุปเค้ามีหน้าที่ทำอะไรกันแน่ ?

So what exactly is the Fed's job ?

Fed สรุปเค้ามีหน้าที่ทำอะไรกันแน่ ?

ช่วงก่อนผมเห็นคนคุยกันเรื่อง Fed แล้วรู้สึกว่าคนจำนวนพอสมควรไม่รู้เลยว่าหน้าที่ของ Fed คืออะไรกันแน่ เช่นบางคนบอก Fed น่าจะไม่กล้าเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเยอะเพราะเดี๋ยวตลาดหุ้นตก ซึ่งเข้าใจผิดสุดๆเพราะตลาดหุ้นขึ้นหรือลงไม่ได้อยู่ในความสนใจของ Fed เลย หน้าที่เค้าไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้เลยครับ วันนี้ผมมาพูดถึงวัตถุประสงค์ของ Fed ว่าสรุปมันคืออะไรกันแน่

หน้าที่ของ Fed ตามกฎหมายเลยคือดังนี้ครับ
Federal Reserve conduct monetary policy “so as to promote effectively the goals of maximum employment, stable prices, and moderate long-term interest rates.” แปลว่าหน้าที่ Fed คือใช้นโยบายทางการเงินโดยมีเป้าหมายเพื่อให้การจ้างงานสูงสุด, ระดับราคาที่มีเสถียรภาพ และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับปานกลาง

ถึงแม้เป้าหมายของ Fed จะมีอยู่สามอย่าง แต่ทั่วไปแล้วคนจะพูดถึงเป้าหมายของ Fed ว่ามีสองอย่าง (dual mandate) ซึ่งคืออัตราการจ้างงานสูงสุดกับระดับราคาที่มีเสถียรภาพ สาเหตุเพราะในเศรษฐกิจที่คนที่ต้องการหางานจะหาได้อย่างรวดเร็วและระดับราคาสินค้ากับบริการสำหรับผู้บริโภคทั่วไปจะมีเสถียรภาพ มันบังคับให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวจำเป็นต้องอยู่ในระดับปานกลางอยู่แล้ว

การตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงินจะทำในที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ FOMC (Federal Open Market Committee) FOMC นี่ประกอบด้วยสมาชิกของบอร์ดผู้ว่าการธนาคารกลาง 5 คน ประธานจะเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางของนิวยอร์ค และที่เหลืออีก 4 คนจะเป็นผู้ว่าการธนาคารสาขาอื่นที่เวียนมาจาก 11 สาขาที่เหลือ และในที่ประชุมจะมีอีก 2 คนที่เข้าร่วมเสนอความเห็นแต่ไม่มีสิทธิโหวต

ในแต่ละปี FOMC ก็จะออกมาอธิบายกับสาธารณะว่าเค้าจะมีนโยบายยังไงในการไปถึงเป้าหมาย ปกติแล้วเค้าจะมองว่าเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพคือ 2% เงินเฟ้อที่ใช้อ้างอิงก็จะเป็นเงินเฟ้อของการบริโภคส่วนบุคคล ส่วนเรื่องอัตราการจ้างงานสูงสุด เค้าจะพิจารณาจากว่าคนหางานง่ายหรือยากกับบริษัทหาพนักงานที่ตรงคุณสมบัติได้มั้ย แต่จะไม่ได้มีกำหนดเป็น % หรือเป้าที่ชัดเจนไว้เพราะการจ้างงานสูงสุดบางทีมีวัดยากและอาจมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ Fed ก็จะมีการประกาศการประมาณการแหละว่าเค้าเดาว่าอัตราการจ้างงานสูงสุดน่าจะประมาณไหน

ชัดเจนมะ หน้าที่ของ Fed มีสองอย่างนี้เท่านั้นครับ เค้าไม่สนว่าตลาดหุ้นตกหรือไม่ตก นั่นไม่ใช่ประเด็นที่เค้าสนใจ และ Fed ก็ไม่ได้มีหน้าที่อะไรเกี่ยวกับการกระจายรายได้ให้มีความเท่าเทียม หรือต้องให้ความสนใจเรื่อง race หรือ inequality ใดๆทั้งสิ้น
 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

Inverted Yield Curve คืออะไร ? ต้องกังวลมั้ย ?

Do we need to worry about the inverted yield curve?

Inverted Yield Curve คืออะไร ? ต้องกังวลมั้ย ?

มีคนมีคำถามเกี่ยวกับ Inverted yield curve ได้ยินว่ามันเป็นตัวบ่งชี้ว่าจะมีเศรษฐกิจถดถอยจริงมั้ย เราต้องกังวลอะไรหรือเปล่า วีดิโอนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันครับ

ประเด็นแรกเรามาอธิบายว่าอะไรคืออะไรก่อน

เพื่อความเข้าใจตรงกัน เราเริ่มจากว่า Yield คืออะไรก่อนนะ คำว่า Yield นี่คืออัตราผลตอบแทนต่อปีของตราสารหนี้ที่จะได้ถ้าถือจนจบและลูกหนี้ไม่เบี้ยวครับ ซึ่งปกติเค้าจะใช้ตัว Yield นี้เป็นตัวหลักในการคุยกันว่าตราสารหนี้ราคาถูกหรือแพงแทนที่การบอกเป็นราคา เพราะบางทีตราสารหนี้แต่ละอันมี coupon rate ไม่เท่ากันทำให้เปรียบเทียบยาก เช่นตราสารหนี้สองอันราคา 100 ทั้งคู่อันนึงจ่ายดอกเบี้ย (Coupon) 3 บาทกับอีกอันจ่าย 4 บาทเงี้ย ราคามันดูเหมือนจะเท่ากันมั้ยเปรียบเทียบลำบากถูกมะต้องมานั่งบอกว่า Coupon rate คือเท่าไหร่อีก เพื่อความง่ายก็บอกไปเลยว่าอันนึง Yield 3% อีกอัน 4% ง่ายกว่าเห็นมะ ดังนั้นขอให้เห็นภาพว่า Yield ความสัมพันธ์มันก็จะกลับกันกับราคานะ ตราสารหนี้ไหน Yield สูงก็คือราคามันต่ำเทียบกับผลตอบแทน ส่วนตราสารหนี้ไหน Yield ต่ำก็คือราคามันสูงเทียบกับผลตอบแทน

ทีนี้แล้ว Yield Curve คืออะไร Yield Curve มันก็เป็นแค่กราฟที่บอกว่า ณ เวลานั้นอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่มีอายุต่างๆกันคือเท่าไหร่ ปกติหน้าตามันก็จะเป็นแกน X คือตราสารหนี้อายุต่างๆ และแกน Y ก็จะเป็นอัตราผลตอบแทน


Yield Curve ปกติมันก็จะวันต่อวัน เพราะราคาของตราสารหนี้มันก็จะมีขึ้นๆลงๆถูกมะ และขอให้เข้าใจว่ามันก็มี Yield Curve สำหรับตราสารหนี้หลายประเภท อาจจะเป็นของตราสารหนี้ภาครัฐหรือตราสารหนี้เอกชนแบบ Investment grade หรือแบบตราสารหนี้เอกชนความเสี่ยงสูงก็ได้

โดยปกติแล้วหน้าตาของ Yield Curve มันจะเป็น upward sloping ซึ่งแปลว่าตราสารหนี้ที่อายุยาวกว่าก็จะมี Yield ผลตอบแทนที่สูงกว่า เหตุผลก็ง่ายๆ ถ้ามีคนยืมเงินเรา ระหว่างยืมแค่แปปเดียวช่วงสั้นๆ กับยืมไปยาวหลายปี อันไหนเสี่ยงกว่ากันครับ มันก็แน่นอนว่าให้ยืมระยะยาวหลายปีก็ต้องเสี่ยงกว่าป้ะ และดังนั้นเพื่อให้คนยินดีจะให้ยืมระยะเวลานานก็ต้องได้ผลตอบแทนสูงกว่าถูกมะ Yield Curve ในสถานการณ์ปกติมันก็สะท้อนเรื่องนั้นแหละ ระดับของ Yield ในตลาดที่คนยอมรับกันถ้าตราสารหนี้อายุยาวกว่าก็จะต้องให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าคนถึงจะยอม

ทีนี้ Inverted Yield Curve คือกรณีที่ Yield ของตราสารหนี้ระยะยาวดันต่ำกว่า Yield ของตราสารหนี้ระยะสั้น โดยปกติที่คนติดตามและพูดถึงกันบ่อยจะเป็นระหว่าง Yield ของ Government Bond อายุ 10 ปี เทียบกับ Yield ของ Government Bond อายุ 2 ปี หน้าตามันก็จะประมาณนี้


และสาเหตุที่คนสนใจหรือดูตื่นเต้นกับ Inverted Yield Curve เป็นเพราะที่ผ่านมาคนสังเกตว่าก่อนเกิดวิกฤติที่หุ้นตกรุนแรงมันจะมี Inverted Yield Curve ก่อนขึ้นก่อน คนก็เลยมองว่ามันเป็นสัญญาณเตือนถึงหายนะอะไรประมาณนั้น แล้วก็เลยพูดถึงกันเยอะ


แล้วสมมติเราอยากดู Yield Curve ตอนนี้เราไปดูได้ที่ไหน อันที่เค้าจับตากันก็จะเป็น US Government Bond แหละ เข้าใจว่ามีหลายเวปนะ แต่ที่ผมเห็นก็จะมี http://www.worldgovernmentbonds.com เข้าไปแล้วก็กดดูของสหรัฐอเมริกา เค้าก็จะมีกราฟประมาณนี้ครับ


คำถามต่อมาคือ แล้วการที่เกิด Inverted Yield Curve แปลว่ามันจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจริงหรือเปล่า มันเป็นอะไรที่เราควรจับตามองหรือตื่นเต้นกับมันมั้ย

คำตอบสำหรับผมคือไม่ ในทางปฏิบัติ สาเหตุที่ Yield Curve มัน Inverted ก็มาจากการที่คนไม่ต้องการถือ Government Bond ระยะสั้นก็เลยทำให้ Yield สูง แต่อยากถือ Government Bond ระยะยาวแห่กันเข้าไปซื้อก็เลยทำให้ Yield ต่ำ แล้วสาเหตุที่ทำให้คนอยากได้ Government Bond ระยะยาวมากกว่าระยะสั้นเข้าใจว่าก็มาได้จากหลายสาเหตุแหละ แต่หนึ่งในสาเหตุที่คนเค้าพูดกันคือเพราะเค้ามองว่าอนาคตอันใกล้เศรษฐกิจจะไม่ดี แล้วเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี Fed ก็อาจจะลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งในสถานการณ์แบบนั้น Government Bond ระยะยาวก็จะได้เปรียบ

ปัญหาของเรื่องคือ Inverted Yield Curve อย่างมากมันเป็นแค่สัญญาณที่สะท้อนบอกว่าคนมีอคติกับสภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นนี้เท่านั้น ตัวมันเองไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดเศรษฐกิจไม่ดี และโดยปกติแล้วมันก็ต้องมีเหตุปัจจัยบางอย่างที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้วที่ทำให้คนไม่วางใจในสภาพเศรษฐกิจ มันถึงจะเกิด Inverted Yield Curve ตามมา ดังนั้นถ้าเราใช้ Inverted Yield Curve เป็นสัญญาณนี่ก็แปลว่าเราช้าไปละครับ คือคนอื่นมันคิดไปก่อนเราละไง มันก็เลยไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ สู้เราไปติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจไปเลยจะดีกว่า

แล้วที่ผ่านมา Inverted Yield Curve ก็ไม่ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้งด้วยนะ อย่างปี 2019 มีเกิดขึ้นอยู่ ในเวลานั้นเกิดเพราะ Fed ออกมาบอกว่าเศรษฐกิจชะลอตัวนะ คนก็เลยคาดการณ์ว่าอาจจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนะ ซึ่งสุดท้ายก็มีการลดอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ได้มีวิกฤติเศรษฐกิจอะไรแต่อย่างใด


ความหมายจริงๆของ Inverted Yield Curve มันก็แค่นั้นน่ะครับ เป็น expectation ของคนในตลาดเท่านั้นเอง ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่านั้น และไม่ได้จำเป็นว่าตลาดคาดการณ์แล้วมันจะถูกต้องเสมอไป

สรุปคือ เราอย่าไปให้ความหมายอะไรกับ Inverted Yield Curve มากจนเกินไปครับ
 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี