ทำไมคุณต้องเข้าใจน่ะรึ ? เพราะคนที่ไม่เข้าใจมีโอกาสโดนหลอก หรือถูกทำให้เข้าใจผิด ส่วนคนที่เข้าใจและใช้มันเป็น มีโอกาสเป็นเศรษฐีครับ
ยิ่งทุกวันนี้ ชีวิตเราเดี๋ยวนี้เลี่ยงไม่ได้ครับพวกเรื่องดอกเบี้ยทบต้น ดังนั้นเรื่องการเงินพื้นฐานที่สุดที่คุณต้องรู้คือเรื่องนี้แหละ
ดอกเบี้ยทบต้น ความหมายก็ตามชื่อล่ะครับ คือดอกเบี้ยไม่ได้คิดจากเงินต้นอย่างเดียว แต่คิดจากดอกเบี้ยที่สะสมด้วย ส่วนใหญ่โดยทั่วไปเค้าถือว่ารู้กันก็จะเรียกสั้นๆว่า “ดอกเบี้ย”
สมมติคุณเอาเงินไปฝากธนาคาร 100 บาท ได้ดอกเบี้ย 10% ต่อปี หนึ่งปีผ่านไปเงินคุณจะเติบโตขึ้นมา 10% ของ 100 บาทคือ 10 บาท รวมกับเงินต้นเป็น 110 บาท
วันนี้ ผ่านไป 1 ปี
100 –> 100+10 = 110
ดอกเบี้ยทบต้นคือ ส่วนที่สะสมขึ้นมาคิดดอกเบี้ยด้วย ดังนั้นพอไปปีที่สองเงินคุณจะเติบโตขึ้นมา 10% ของ 110 บาท ไม่ใช่แค่ 100 บาทตอนต้น ซึ่งคือ 11 บาท รวมกับเงินที่มีอยู่เป็น 121 บาท
วันนี้ ผ่านไป 1 ปี ผ่านไป 2 ปี
100 –> 100+10 = 110 –> 110+11 = 121
คุณสังเกตดีๆจะเห็นว่า ดอกเบี้ยตอนปีแรกได้ 10 บาท แต่ปีที่สองได้ตั้ง 11 บาทแน่ะ ที่เป็นแบบนี้เพราะมันไม่ใช่ดอกเบี้ยธรรมดาครับ แต่เรียกว่าเป็นดอกเบี้ยทบต้น โอเคดูเฉยๆแบบนี้ก็ดูไม่ต่างกันเท่าไหร่
เอางี้นะครับ คือตอนนี้คุณยังไม่ต้องเข้าใจวิธีคำนวนเลข แต่เดี๋ยวผมจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่าทบต้นกับไม่ทบต้นต่างกันแค่ไหนก่อน เอาทีละเรื่อง
สูตรคำนวนดอกเบี้ยทบต้น คุณยังไม่ต้องซีเรียส เราจะอธิบายที่มาการคำนวนในคราวต่อไป ถ้าเห็นสูตรแล้วปวดหัว แนะนำให้อ่านข้ามไป ถ้ายังไม่หายอีกนี่ผมแนะนำให้ท่านไปนอนได้ละ
นิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า มีคนสองคน นาย ก.กับนาย ข. คนสองคนนี้ตอนอายุ 20 มีเงินเก็บเท่ากันเลย คือ 1,000,000 บาท (PV = 1,000,000)
ธนาคารบอกผมให้ทางเลือกลงทุน 2 แบบ
แบบแรก เป็นดอกเบี้ยไม่ทบต้น ธนาคารบอกให้ผลตอบแทน 25% ต่อปีเลย
แบบสอง เป็นดอกเบี้ยทบต้น ธนาคารบอกให้ผลตอบแทนแค่ 7% ต่อปี (r = 7%)
นาย ก. นึกในใจ “เออจริงๆก็ได้ยินมาว่าดอกเบี้ยทบต้นมันเจ๋งมาก หลักการก็ดูดีอยู่ แต่ไอห่า แบบแรกนี่กูฝากเงินไปแค่สี่ปีได้ดอกเบี้ยเป็นล้าน ส่วนแบบสองนี่ มันทบต้นสิบปียังไม่รู้ได้ดอกเบี้ยถึงล้านบาทรึยัง” คิดได้ดังนั้น ตัดสินใจเอาแบบแรกทันที
ส่วนนาย ข. เลือกเอาแบบที่สอง จริงๆไม่รู้เรื่องอะไร พอดีวันนั้นงงๆ ขี้เกียจคิด
มารู้ตัวอีกทีเกษียณครับ อายุ 60 ปีละ หรือก็คือ 40 ปีต่อมา (n = 40)
นาย ก. ไปเช็คเงินก้อนนั้นที่ธนาคาร ปรากฏว่ามีเงินอยู่
1,000,000 + (250,000 X 40) = 1,000,000 + 10,000,000 = 11,000,000 บาท
เงินตอนแรกสุด + (ดอกเบี้ยที่ได้ต่อปี (25% ของ เงินตอนแรกสุด) X 40 ปี)
ส่วนนาย ข. ไปเช็คเงินพร้อมเพื่อน จะพบว่ามีเงินอยู่
1,000,000 X (1.07^40) = 14,974,457 บาท
หรือประมาณๆ เกือบ 15,000,000 บาท
นาย ข. ในวัยเกษียณมีเงินฝากมากกว่า นาย ก. สามล้านเกือบสี่ล้านบาทครับ
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ดอกเบี้ยทบต้น โตไวกว่าดอกเบี้ยธรรมดาเยอะครับ