เสริมสร้างฐานะทางการเงิน 2 – ดูกระแสเงินสดแต่ละเดือน  แล้วกันเงินไว้ออม

Improve your financial life 2 – Assess Cash Flows and Create a Budget

how-to-manage-your-money

บางคนคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นหรอก  ไว้ตอนมีรายได้มากขึ้นเดี๋ยวก็มีเงินเก็บเองแหละ  แต่ชีวิตจริงมันไม่เป็นแบบนั้นน่ะสิ  เพราะส่วนใหญ่พอรายได้มากขึ้นไลฟ์สไตล์เราก็เปลี่ยนตาม  ซื้อบ้านใหญ่ขึ้น, กินข้าวหรูขึ้น, ซื้อของใช้นู่นนี่มากขึ้น, ซื้อรถแพงขึ้น, ฯลฯ  สุดท้ายไม่มีเงินเก็บเหมือนเดิม

การที่ไลฟ์สไตล์เราเปลี่ยนแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาสองอย่างตอนจะเกษียณ  อย่างแรกเลยคือการใช้จ่ายมากเกินทำให้ไม่มีเงินเก็บเพียงพอ  อย่างที่สองคือเราจะเริ่มชินกับวิถีชีวิตที่แพงขึ้นทำให้ยิ่งเงินไม่พอเข้าไปใหญ่  ดังนั้นเพื่อมั่นใจว่ามีเงินพอเกษียณเราต้องเริ่มคอยดูการใช้จ่ายเราอยู่อย่างสม่ำเสมอ  และเริ่มบังคับตัวเองให้กันเงินออมไว้  ลองทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. เขียนงบกระแสเงินสดของตัวเอง

การเขียนงบกระแสเงินสดตัวเองออกมา  จะทำให้เรารู้ว่ารายได้เรามาจากไหนบ้าง  จ่ายไปกับเรื่องอะไรบ้าง  และแผนการออมเราเป็นไปตามแผนหรือเปล่า  ผมแนะนำให้โหลด worksheet ของ Morningstar ได้ที่ลิ้งค์นี้

https://drive.google.com/open?id=0B4XyqG1tPEfic092ZFplQ0FvckU

  • เงินเดือนถ้าแต่ละเดือนไม่แน่นอน พยายามใช้เฉลี่ยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
  • รายได้อื่นเช่นประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อันนี้สำหรับกรณีเกษียณแล้ว
  • รายการหนี้สินที่ต้องจ่ายทุกเดือน
  • พวกรายจ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำในการดำรงชีวิตทั้งหลาย บางทีอาจจะไม่รู้เพราะไม่เคยบันทึก  แนะนำให้เริ่มบันทึกหรือลองประมาณการณ์ดูเท่าที่ทำได้ตามที่ปกติเราใช้จริง
  1. ดูว่าเรามีกระแสเงินสดเป็นบวกหรือลบ

หักรายจ่ายทั้งหมดออกจากรายได้  สิ่งที่ได้คือกระแสเงินสดที่เข้าหรือออกจากกระเป๋าเรา

ถ้าเรามีกระแสเงินสดเป็นบวกมีเงินเหลือเก็บ  ลองเช็คดูว่าได้อย่างน้อย 10% ของรายได้มั้ย  ถ้าเป็นไปได้เอาให้ถึง 15-20% ของรายได้เลยก็จะดีมากจะได้เก็บเงินทันแน่นอน  แต่สมมติเรามีเงินเหลือเก็บน้อยหรือไม่เหลือ  เราต้องเริ่มลองปรับการใช้จ่ายของเราดูแล้ว  ปล่อยไปแบบนี้ไม่ดีแน่นอน

  1. เริ่มวางแผนการออม

อย่างแรกเลยคือวางเป้าการออมก่อน  เช่นสมมติรายได้เราเดือนละ 30,000 บาท  ตั้งเป้าออมซัก 20% ก็คือ 6,000 บาท

เปรียบเทียบเป้าหมายกับที่เราออมอยู่จริงในวันนี้  สมมติวันนี้เราออมได้เดือนละ 5,000 บาทอยู่แล้ว  แปลว่าเราต้องมองหาวิธีทำยังไงให้เหลือออมเพิ่มเติมอีก 1,000 บาท  ใน worksheet ที่ดาวน์โหลดไปมันจะมีแถวสองแถว Spent กับ Budget  เราลองพยายามปรับตัวเลขดูว่าเราลดค่าใช้จ่ายตรงไหนได้บ้าง  แล้วมันจะเพียงพอหรือไม่

โดยปกติรายจ่ายหลักที่ต้องมีทุกเดือนก็จะตัดยากหน่อย  อย่างพวกค่าน้ำค่าไฟนี่คงจะยาก  แต่ถ้าส่วนค่าโทรศัพท์ก็อาจจะลดได้นะถ้าเรายอมเล่นเน็ตมือถือน้อยลงหรือใช้เน็ตช้าหน่อย  ส่วนใหญ่แล้วส่วนที่ตัดได้มันมักจะเป็นพวกค่าจิปาถะอย่างบันเทิง, ไปท่องเที่ยว  หรือพวกกินข้าวนอกบ้านอะไรพวกนี้  หรือถ้าเราชอบท่องเที่ยวชอบทำกิจกรรม  ก็อาจจะตัดรายจ่ายจากพวกเสื้อผ้า, ของแต่งบ้าน, รถยนต์อะไรพวกนี้แทน

  1. คอยติดตามดูการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ

ดูซิว่าเราควบคุมรายจ่ายได้ตามเป้ามั้ย  หรือแผนที่วางไว้ตอนแรกอาจจะทำไม่ได้จริง  หรืออาจมีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนแผนหรือเปล่า

หัวข้อนี้จะทำให้เรารู้ถึงสถานการณ์การเงินตัวเองมากขึ้น  ไว้ในหัวข้อต่อไปเราจะมาพูดถึงการตั้งเป้าหมายที่ละเอียดขึ้นกันครับ