เราจะรวยขึ้นจากความผิดพลาด (ตอนที่ 2)

How My Bad Investments Made Me Richer (Part 2)

ผมว่าหนึ่งในปัจจัยสู่ความสำเร็จในการลงทุนมันคือการเรียนรู้จากการลงทุนที่ผิดพลาดของเรา  แล้วปรับกลยุทธ์หรือตั้งกฎการลงทุนเพื่อไม่ให้เราพลาดแบบเดิมเนี่ยแหละ  การมีความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ของตัวเอง  เลิกกล่าวโทษคนอื่น  มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จเลยแหละ

แต่ประเด็นที่ต้องถามต่อคือคำว่า “เรียนรู้จากความผิดพลาด” เนี่ย  สรุปเราควรต้องเรียนรู้แง่มุมไหน  เรื่องอะไรบ้าง  ผมโดยส่วนตัวจะใช้คำถาม 4 ข้อหลักในการถามตัวเองเมื่อชัดเจนแล้วว่าการลงทุนผิดพลาด

  1. การลงทุนที่พลาดไปแล้วครั้งนี้ จะทำอย่างไรต่อกันมัน

แน่นอนถ้าไม่พลาดแต่แรกได้ดีสุด  แต่ในเมื่อพลาดไปแล้ว  คำถามคือเราจะทำยังไงกับมันต่อ  โดยปกติผมแนะนำให้ใจเย็นแล้วไตร่ตรองก่อนว่าพลาดเยอะแค่ไหนก่อน  แล้วค่อยตัดสินใจต่อ  มันมี 2 แบบหลักๆ

  • แบบซื้อกิจการเลวร้ายมา อันนี้ยังไงผมขายแน่นอน  ถ้าดูแล้วยิ่งนานไปกิจการยิ่งแย่นี่ต้องขายทันที  แต่ถ้าเป็นกิจการที่ขึ้นๆลงๆไม่แน่นอน  ผมจะไปพยายามขายช่วงที่มันเหวี่ยงมาผลประกอบการดีแล้วรีบขาย
  • แบบซื้อกิจการดีแหละ แต่สงสัยจะซื้อมาแพง  กรณีนี้ยังไม่ซีเรียสมาก  ผมจะทำการหาโอกาสลงทุนบริษัทอื่นทันที  และขายเมื่อเห็นว่ามีโอกาสอื่น  ถ้าไม่พบโอกาสอื่นอันนี้ก็แล้วแต่ละ  จะฝากเงินเราไว้กับหุ้นตัวนี้ก่อนก็ได้  หรือขายทิ้งออกมาถือเงินสดก็ได้

ตัวอย่างกรณีอย่าง TIPCO  ที่ผมซื้อมาปุ๊บ  ปีต่อมาฝนไม่ตกแล้วบริษัทขาดทุน  เลยเป็นเหตุให้ราคาหุ้นตก  ผมรู้ตัวละว่ายังไงก็ขายแน่นอน เพราะผมไม่นิยมถือหุ้นกิจการที่ขึ้นกับดินฟ้าอากาศ   แต่รึจะขายทันทีในช่วงที่แย่ที่สุดก็ไม่ใช่เรื่องฉลาด  ผมตัดสินใจรอปีที่ฝนตกปกติ  ผลผลิตออกมาดีบริษัทมีกำไร  ให้คนขายตกใจ  ราคาหุ้นสูงขึ้นกลับมาแล้วค่อยขาย

  1. อะไรเป็นจุดอ่อนต้นเหตุในกลยุทธ์ของเราที่นำไปสู่ความผิดพลาดนี้

การตอบข้อนี้  เราต้องหลีกเลี่ยงการกล่าวโทษตลาดหุ้น, โชคไม่ดี  หรือไปโทษคนนู้นคนนี้ที่แนะนำหุ้นให้เรา  เพราะการกล่าวโทษเป็นการปัดความรับผิดชอบ  เราต้องหาสาเหตุว่าเราทำพลาดอะไรไป  เพราะสุดท้ายต้องอย่าลืมว่าเราเป็นคนสั่งซื้อหุ้น  เราเป็นคนตัดสินใจ  และเรามันเป็นเงินของเรา

ตัวอย่างกรณี TIPCO  สิ่งที่ผมพบคือ  เราไม่ได้รู้ก่อนเลยว่าเค้ามีผลไม้กระป๋องส่งออกด้วย  เป็นสัดส่วนใหญ่พอสมควรเลยด้วยนะ  ถ้าเรารู้แต่แรกว่าเป็นผลไม้กระป๋องก็คงไม่ได้ซื้อ  เพราะอุตสาหกรรมประเภทปลูกแล้วแช่ในน้ำเชื่อมใส่กระป๋อง  มันทำกันได้เยอะ  คู่แข่งมีหลากหลาย  เฉพาะเจ้าในไทยก็มีหลายคนทำ  ต้นเหตุคือเราไม่ดูให้ดีเอง

  1. แล้วเราจะทำอย่างไรเป็นการป้องกันไม่ให้พลาดแบบเดิมอีก หรือเรามีวิธีอะไรมั้ยจะทำกำไรจากสถานการณ์แบบนี้

แน่นอนว่าเข้าใจต้นเหตุอย่างเดียวไม่พอ  เราต้องมีการตั้งกติกาหรือเกณฑ์หรืออะไรซักอย่างที่เป็นตัวป้องกันไม่ให้เราพลาดลักษณะเดียวกันนี้อีก  และถ้าให้ดีลองนึกดูด้วยว่าสิ่งที่เราเรียนรู้มาเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้หรือไม่

ตัวอย่างกรณี TIPCO  ในเมื่อรู้ละว่ารอบนี้เป็นความผิดพลาดหลักมาจากการละเลยเรื่องการหาข้อมูล  ดังนั้นผมตั้งกติกาทันทีว่า  ต่อจากนี้จะซื้อหุ้นอะไรก็แล้วแต่  ห้ามนึกเองเออเองเด็ดขาด  หาข้อมูลจากแหล่งไหนก็ได้กี่ที่มาก็ได้  แต่ต้องมีการอ่านรายงานประจำปีของบริษัทนั้ทั้งเล่มอย่างน้อยหนึ่งปีเสมอ  ไม่งั้นห้ามลงทุนเลย  และสิ่งที่ย้ำเตือนเพิ่มขึ้นมาก็คือ  บริษัทที่ไม่มีอำนาจควบคุมสถานการณ์  กำไรขาดทุนขึ้นกับดินฟ้าอากาศ  ลักษณะนี้ต้องหลีกเลี่ยงลงทุน

ส่วนเรื่องว่าจะทำประโยชน์อะไรได้มั้ย  ผมก็ได้ข้อสรุปว่า  กิจการลักษณะที่แกว่งรุนแรงจากปัจจัยภายนอก  เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายแบบนี้  ถ้าจะซื้อ  ต้องซื้อหุ้นปีที่บริษัทขาดทุนหนักๆ  เพราะปีนั้นหุ้นราคาจะตกเป็นพิเศษ  อย่างกรณี TIPCO นี่ถ้าจะซื้อในอนาคต  จะซื้อต้องซื้อปีแล้งที่ผลผลิตแย่  หรือปีที่กำไรออกมาน่าเกลียดจากปัจจัยชั่วคราว  แล้วรีบขายทำกำไรไปซะในปีที่ดี  ห้ามลงทุนระยะยาวเด็ดขาด

  1. คิดทบทวนดีๆอีกทีซิ ว่าวิธีการที่เราจะใช้ป้องกันนี้  เป็นวิธีการที่น่าจะได้ผลและเหมาะสมแล้วใช่มั้ย

บางทีพอพลาดเราเกิดเหตุการณ์เข็ดน่ะครับ  ที่มีข้อนี้คือให้ย้ำอีกทีซิว่าเรากำลังแก้ปัญหาใช่มั้ย  ไม่ใช่หนีปัญหานะ  อย่างบางทีผมก็มีนะ  พลาดไปทีนึงแล้วตั้งกฎว่าจะไม่ซื้อหุ้นกลุ่มนั้นแล้วเพราะไม่ถนัด  แต่มานึกดีๆนี่มันหนีปัญหานี่หว่า  ไม่ถนัดเป็นเพราะเราไม่มีความรู้เองนี่หว่า  แก้ได้จากการศึกษาจริงจังสิ  การบอกว่าหลบหุ้นอุตสาหกรรมนั้นทั้งกลุ่มนี่เป็นการหนีปัญหาชัดๆ

และนี่คือคำถามส่วนตัวที่ผมมักจะถามตัวเองหลังจากได้มีการลงทุนพลาดไปแล้ว  หวังว่าจะชอบนะครับ