เมื่อไหร่ถึงควรจะขายหุ้นที่ซื้อไว้?

 When To Sell An Investment?

ปกติเวลาผมสอนผมมักจะไม่มีโอกาสอธิบายหัวข้อนี้จริงจัง  ทั้งที่อันนี้จะเป็นคำถามที่มักมีคนถามตอนช่วงท้ายๆสัมมนาเกือบทุกรอบ  ก็เลยเดี๋ยวจะตอบไว้บนนี้ละกันครับ

โดยภาพรวมแล้ว  ผมว่าการตัดสินใจขายของผมหลักการคล้ายนักลงทุนเน้นคุณค่าทั่วไปแหละ  นั่นคือขายในกรณีเหล่านี้

  1. พลาด พลาดตั้งแต่ตอนวิเคราะห์กิจการเลย เช่น อาจจะเข้าใจลักษณะธุรกิจผิด  เข้าใจความสามารถในการแข่งขันผิดไป  หรือพลาดเรื่องพวกตัวเลขงบการเงินต่างๆ เช่น ลืมดูภาระผูกพันระยะยาวที่นอกงบบัญชี, ลืมเช็คว่ามีออกวอร์แรนต์ไว้เยอะมาก  ฯลฯ
  2. พื้นฐานเปลี่ยน อันนี้อาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่สามารถคาดการณ์แต่แรก เช่น ในอดีตร้านหนังสืออาจจะดีมาก  แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนละคนซื้อหนังสือน้อยลงหันไปอ่าน e-book  หรือถ้าวันนึงเกิดโลกพบวิธีใช้พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้มีประสิทธิภาพ  บริษัทน้ำมันก็จบละครับ
  3. ราคาสูงเกินไป ราคาที่ขึ้นมาสูงในที่นี้คือเมื่อเทียบกับกำไรของบริษัทและอัตราการเติบโตแล้ว  ไม่คุ้มที่จะถือหุ้นบริษัทนี้ต่อไป
  4. มีโอกาสที่ดีกว่าโผล่มา อันนี้ก็ปกติ  โอกาสดีมันโผล่มาเป็นระยะ  ในบางครั้งสมมติเราถือหุ้นบริษัทหนึ่งมาซักระยะ  มีกำไรบ้างแล้วแต่ไม่ถึงกับเต็มศักยภาพของกิจการ  ถ้าบังเอิญมีโอกาสอื่นที่ดีมากๆโผล่มา  บางครั้งผมก็ตัดสินใจขายครับ

ทีนี้สิ่งที่เราต้องทำกรณีเจอเหตุการณ์เหล่านี้คือ

กรณี 1

พลาดก็ต้องยอมรับว่าพลาด  พิจารณาว่าที่พลาดนี่ส่งผลขนาดไหน  พลาดรุนแรงแบบทำให้การประมาณการที่ทำมาไร้ประโยชน์เลยมั้ย  หรือพลาดแค่ทำให้ผลตอบแทนที่คาดต่ำลง

ถ้าพลาดรุนแรงเรื่องการวิเคราะห์ตัวกิจการ  จนเห็นสมควรไม่ต้องทำการประมาณการใหม่  ตัดสินใจขายทิ้งซะ

ถ้าพลาดเรื่องการประมาณการ  ลืมทำนู่นนี่นั่น  ตัวเลขผิด ฯลฯ  ให้ทำการประมาณการผลตอบแทนใหม่  แล้วดูว่ารับได้มั้ย  รับไม่ได้ก็ตัดสินใจขายดึงเงินทุนกลับมาเตรียมสำหรับโอกาสต่อไป

กรณี 2

พื้นฐานเปลี่ยนรุนแรง  โดยเฉพาะประเภทที่ทำให้มีคู่แข่งกับบริษัทเราเยอะขึ้นเยอะ  หรือกรณีที่ทำให้สินค้าหรือบริการของบริษัทเราตกยุคไปไม่ต้องใช้แล้ว  อันนี้ขายอย่างด่วน  ตัวอย่างกรณี Digital TV อย่างเนี้ย  คู่แข่งโผล่ตรึม  ไม่รู้ใครจะชนะล่ะ  แต่ถ้าเราถือหุ้น MCOT หรือ BEC  เราต้องรู้ตัวแล้วว่าแบบนี้หลอนแน่นนอน  ยังไงมันต้องมีผลอยู่แล้ว  มันเปิดการแข่งขันเยอะขึ้นเยอะน่ะครับ

กรณี 3

ราคาสูงเกินไป  อันนี้ง่ายนะผมว่า  อย่างปกติผมแนะนำให้ซื้อที่ราคาที่ให้ประมาณการผลตอบแทน 15% ใช่มั้ย  สมมติเราซื้อมาละ  หลายปีต่อมาราคาสูงขึ้นมาเยอะจนเราสงสัยว่ามันจะสูงเกิน  ก็แค่ทำขั้นตอนเดียวกับตอนซื้อมาตอนแรกน่ะครับ  อัพเดทข้อมูลจนถึงปีล่าสุด  แล้วทำการประมาณการผลตอบแทนอีกที  ดูว่าราคาปัจจุบันนี้คาดหวังผลตอบแทนไปในอนาคตกี่ %

อันนี้แล้วแต่คนละ  แต่ผมว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ผลตอบแทนที่คาดหวังต่ำเท่ากับหรือต่ำกว่าเงินฝาก  3% นะ  ให้ขายเลยทันที  เพราะแปลว่าซื้อที่ราคาปัจจุบันคาดหวัง 3%  แล้วนักลงทุนจะซื้อไปทำไม  เค้าก็ไปฝากธนาคารไม่ดีกว่าเหรอ  แปลว่าหุ้นตัวนี้ราคาแพงเกินมาเยอะละ

กรณี 4

อันนี้ต้องเปรียบเทียบแล้วล่ะ  สิ่งต้องทำคืออัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบันให้เรียบร้อยทั้งหุ้นที่เราถืออยู่  และหุ้นที่เรามองว่าเป็นโอกาสดี  แล้วทำการประมาณการผลตอบแทนของสองอันนี้มาเปรียบเทียบกัน

คำถามคือ  ผลตอบแทนคาดหวังของโอกาสใหม่  ต้องดีกว่าหุ้นเก่ากี่ % เราถึงจะยอมเปลี่ยน

อันนี้ก็แล้วแต่คนอีกน่ะแหละ  ส่วนตัวผมใช้กฎ 7±2% นะ  หมายความว่าโดยปกติถ้าผมจะเปลี่ยนจากหุ้นเดิมที่ดี  ไปยังหุ้นใหม่  เมื่อหุ้นใหม่ผลตอบแทนที่คาดหวังดีกว่าหุ้นเดิม 7%

ที่เขียน ±2%  คือถ้าหุ้นใหม่ลักษณะธุรกิจเข้มแข็งมาก   ผมมีความสบายใจที่จะเป็นเจ้าของมากกว่าหุ้นเดิม  ถ้าผลตอบแทนคาดหวังดีกว่าหุ้นเดิม 5% ผมก็เปลี่ยน  แต่กลับกันสมมติผมว่าหุ้นเดิมลักษณธธุรกิจเข้มแข็งกว่า  ไว้ใจได้มากกว่า  ผลตอบแทนคาดหวังของหุ้นใหม่ต้องดีกว่าหุ้นเดิมอยู่ 9% ผมถึงจะยอมเปลี่ยน

เกณฑ์ของผมที่ใช้ก็ประมาณนี้ครับ  ถ้าเคยเรียนด้วยกันมาแล้วผมว่าพวกคุณรู้แน่นอนว่าผมพูดถึงอะไรอยู่  กรณีที่ท่านผู้อ่านไม่ได้เคยเรียนด้วยกันมาก่อน  ก็ขอให้อ่านเอาเข้าใจคอนเซปการตัดสินใจ  แล้วเอาไปปรับใช้กับวิธีการของแต่ละคนเอาละกันนะครับ

Please note: I reserve the right to delete comments that are offensive or off-topic.

Leave a Reply