คุณเคยไปถามคนอื่นหรือเคยได้ยินคนในโทรทัศน์ถามว่าหุ้นแพงไปหรือถูกไปมั้ยครับ ส่วนใหญ่ในคำตอบที่ตอบกันจะได้ยินคนจะพูดถึงอัตราส่วนตัวนี้แหละครับ อัตราส่วน P/E คืออัตราส่วนเปรียบเทียบราคาต่อกำไรของหุ้นหนึ่งหุ้นครับ
สูตรมันจะเป็นแบบนี้ครับอัตราส่วน P/E = price / earning เช่นถ้าหุ้นตัวหนึ่งราคา 100 บาท แล้วที่ผ่านมากิจการนี้กำไรต่อหุ้น 6 บาท ก็จะได้อัตราส่วน P/E = 100 / 6 = 16.67 เท่า ตัวเลขที่คำนวณออกมาบอกแค่ว่า “ถ้าสมมติว่ากิจการนี้ทำกำไรเท่านี้ตลอด แล้วเราซื้อหุ้นด้วยราคาตอนนี้ จะต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะได้ได้ทุนคืน” ในตัวอย่างนี้ก็คือต้องใช้เวลา 16.67 ปีจะได้ทุนคืน ทีนี้ในรายละเอียดมันก็จะมีเรื่องของว่าเอาตัวเลขอะไรเป็นตัวคิด อย่างกำไรนี่เอากำไรของปีที่ผ่านมาหรือเปล่า หรือเอาประมาณการกำไรของปีหน้าดี ราคานี่เอาวันนี้มาคิด หรือเอาเฉลี่ยในช่วงเดือนที่ผ่านมาดี ซึ่งเรื่องพวกนี้ยังไม่ต้องกังวลไปครับเอาให้เข้าใจไอเดียมันก็พอ
แน่นอนโดยไอเดียแล้วถ้าเลขตัวนี้เป็นจำนวนเท่าที่เยอะ ก็คือราคาสูงเมื่อเทียบกับกำไรของหุ้น ถ้าเลขตัวนี้เป็นจำนวนเท่าที่ต่ำก็คือราคาต่ำเมื่อเทียบกับกำไรของหุ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเราจะใช้ตัวเลขตัวนี้ดูเอาเฉยๆก็ไม่ได้อีกครับ มันต้องคำนึงถึงว่ากิจการที่เรากำลังพิจารณาอยู่นี้ทำธุรกิจด้านอะไรเป็นอย่างไรด้วย เพราะแต่ละประเภทธุรกิจไม่เหมือนกันเช่น ธุรกิจธนาคารกับค้าปลีก สมมติเทียบหุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กับหุ้นบริษัทซีพีออล์ (CPALL) คุณก็จะรู้สึกได้เองอยู่แล้วว่าถ้าพูดถึงความปลอดภัยในการลงทุนเกิดมีวิกฤติเศรษฐกิจอะไรขึ้นมา กลุ่มธนาคารที่ปล่อยให้ธุรกิจกู้เงินก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าเพราะกิจการเป็นการปล่อยสินเชื่อเกิดอะไรขึ้นคนก็จะไม่คืนเงิน ธนาคารก็ลำบาก แต่ในขณะที่ 7-11 ที่ขายของทั่วไปขายอาหารขายความสะดวกรับเงินสดอาจแทบไม่กระทบเลย ดังนั้นทั้งที่เป็นกิจการที่ดีมีกำไรทั้งคู่แต่อัตราส่วน P/E ของ CPALL ก็จะสูงกว่า KBANK
สรุปนะครับ เลขตัวนี้เป็นตัวบอกระดับความถูกหรือแพงคร่าวๆเท่านั้น ไม่ได้เอาไว้ใช้ตัดสินว่าเท่านี้เท่านั้นคือแพงไปหรือถูกไป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับแนวโน้มของกิจการที่เราพิจารณาเป็นหลัก