บทนี้เราก็ยังอยู่ในหัวข้อพูดถึงเรื่องทางบัญชีที่อาจบิดเบือนทำให้ผลประกอบการหน้าตาเปลี่ยนไปกันครับ บทความที่ผ่านๆมาอันอื่นเราพูดถึงกรณีทั่วไป เป็นเรื่องปกติในการลงบัญชีที่อาจจะสร้างความสับสนหรืออาจจะทำให้งบการเงินดูดีหรือแย่เกินความเป็นจริง แต่ในบทนี้เราจะมาคุยคร่าวๆถึงกรณีที่เป็นความตั้งใจของบริษัทที่จะปกปิดหรือบิดเบือนหน้าตางบการเงินกัน
ทีนี้การตั้งใจบิดเบือนงบบัญชีมันมักจะมีอยู่สองทิศทาง อย่างแรกคือบิดเบือนให้ดูดีขึ้น โดยทั่วไปทำเพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังของตลาด หรือทำช่วงตอนกำลังจะระดมทุนออกหุ้นเพิ่มเพราะต้องการระดมทุนได้เยอะๆ หรือไม่ก็ผู้บริหารเองต้องการที่จะขายหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ออกมา
อย่างที่สองจะเป็นการบิดเบือนให้ดูแย่ลง โดยปกติเค้าก็จะไม่ทำกัน ที่เห็นจะมีทำหลักๆก็คือหลบภาษี หรือไม่ก็รวบรวมเรื่องแย่ๆไปรวมกันในปีที่ผลประกอบการจริงอาจจะแย่อยู่แล้วจากปัจจัยอื่น ไหนๆปีนั้นก็แย่อยู่แล้วก็รวบรวมเรื่องแย่ไว้ปีนั้นปีเดียว อันนี้ทำเพื่อให้ปีต่อๆมาดูดีขึ้น
ผมยกเนื้อหาในบทนี้มาจากหนังสือของ Dr. Howard M. Schilit ชื่อหนังสือ “Financial Shenanigans” คนๆนี้เป็นอดีตอาจารย์วิชาบัญชีที่มหาวิทยาลัย American University และหนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนังสือที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าด้วยเรื่องสายวิชาการแต่งงบบัญชี อันนี้ผมย้ำอีกทีว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติแล้วนะครับ ไม่ใช่แค่เรื่องทางบัญชีที่ต้องระวัง กรณีพวกนี้เข้าข่ายมีเจตนาทำให้เข้าใจผิดแล้วนะครับ
ตามหนังสือเค้า วิธีการที่บริษัทจะบิดเบือนหน้าตาผลประกอบการ มันจะมีอยู่ 7 ที่หลักๆที่เค้าจะสามารถทำได้ เรียงตามนี้เลย
-
บันทึกรายได้เร็วเกินไป หรือบันทึกรายได้ที่ยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้น เช่น
-
บันทึกเป็นรายได้ ก่อนที่เราจะส่งมอบสินค้าหรือบริการเป็นที่เรียบร้อย
-
บันทึกรายได้จากสินค้าหรือบริการพ่วง ที่ลูกค้าอาจจะไม่ได้ต้องซื้อ
-
บันทึกรายได้ ทั้งๆที่ยังไม่มีการขายเกิดขึ้น
-
-
บันทึกรายได้ที่ไม่ใช่กิจกรรมหลักของบริษัทรวมเป็นรายได้หลัก เช่น
-
บันทึกรายได้จากการขายเงินลงทุนรวมไปในรายได้หลัก
-
บันทึกเงินที่ได้มาจากการกู้ยืมเงินเป็นรายได้
-
-
เพิ่มกำไรด้วยรายการพิเศษที่เกิดครั้งเดียว
-
บันทึกกำไรจากการขายทรัพย์สินรวมไปในรายได้หลัก
-
บันทึกรายได้ที่ได้จากการลงทุนรวมไปในรายได้หลัก
-
-
ขยับรายจ่ายไปออกไปในอนาคต
-
ตัดจำหน่ายสินทรัพย์ถาวรหรือพวกสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ช้าหรือเร็วมากๆ
-
ย้ายรายจ่ายบางรายการไปเป็นการลงทุนแทน แทนที่จะบันทึกในงบกำไรขาดทุนว่าเป็นค่าใช่จ่ายก็จะไปบันทึกบนงบดุลว่าเป็นสินทรัพย์ถาวรแทน
-
ไม่ตัดขาดทุนการด้อยค่าทรัพย์สิน เช่น พวกสินค้าคงเหลือที่ตกยุคไปแล้ว หมดอายุหรือขายไม่ได้แล้ว ไม่ตัดทิ้งเป็นขาดทุน
-
-
ลดให้หนี้ดูน้อยลง
-
ไม่บันทึกหรือบันทึกค่าใช้จ่ายค้างจ่ายหรือพวกเงินที่ลูกค้าจ่ายล่วงหน้า
-
-
เก็บรายได้ตอนนี้ปันทึกในอนาคต
-
รายได้ที่เป็นของงวดนี้ไม่รายงาน เก็บเอาไปรายงานงวดอื่นที่อาจมีปัญหาเพื่อให้งวดนั้นดูดีขึ้น
-
-
ขยับรายจ่ายในอนาคตมาปัจจุบัน
-
เร่งการตัดจำหน่ายเป็นแบบวิธีอัตราเร่ง
-
พวกรายการคาดการณ์สำรองว่าจะขาดทุน
-
คุณจะเห็นว่าในการทำบัญชี เนื่องจากธุรกิจปัจจุบันมีความซับซ้อน ดังนั้นมาตรฐานทางบัญชีก็จำเป็นจะต้องเปิดช่องให้มีการบันทึกตามวิจารณญานของแต่ละบริษัทได้บ้างเพราะไม่อย่างนั้นมันอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงของแต่ละบริษัท มันก็เลยเป็นที่มาว่าบางครั้งช่องว่างที่มีเจตนาดีเหล่านั้นถูกเอามาใช้ในการบิดเบือนผลประกอบการเพื่อให้นักลงทุนสับสน แต่โอเคแหละ ขอให้สบายใจอย่างหนึ่งว่า มันก็มีบ้างการตกแต่งบัญชีให้ดูดีขึ้น แต่บริษัทส่วนใหญ่ในตลาดที่ปกติผลประกอบการดีสม่ำเสมอ และมีเจตนาประกอบกิจการไปอีกนาน เค้าไม่รู้จะมาหลอกคุณไปเพื่ออะไรครับ ไม่มีเหตุผลอะไรจะต้องมาโกหกพวกเราแล้วเสี่ยงโดนจับได้ทีหลัง และส่วนมากถ้าจะมีการแต่งงบบัญชีก็ทำได้ไม่กี่ปี ดังนั้นผมแนะนำให้เวลาพิจารณาคุณทำหลายปีย้อนหลังครับ แบบนี้เราก็จะไม่ต้องไปเป็นกังวลกับรายการพิเศษทางบัญชีมากจนเกินไป