บัญชีพื้นฐาน 2: วิธีลงบัญชีแบบเกณฑ์เงินสด กับเกณฑ์คงค้าง 2

Basics in Accounting 2: Cash and Accrual Accounting 2

 

โอเคทีนี้เราคุยกันต่อจากบทที่แล้ว บทที่แล้วเราพูดถึงว่ามีวิธีลงบัญชีรายได้รายจ่ายโดยใช้เกณฑ์สองแบบคือใช้เงินสดเป็นเกณฑ์ หรือใช้เกณฑ์คงค้างคือดูกิจกรรมทางธุรกิจเป็นเกณฑ์ใช่มั้ยครับ ประเด็นต่อไปคือแล้วปกติเค้าใช้อันไหนยังไง เพราะเหตุผลอะไร

โดยปกติแล้วนะครับเค้าจะใช้เกณฑ์เงินสดกับกิจการขนาดเล็กที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน เพราะอันดับแรกเลยมันไม่ยุ่งยาก เงินสดออกไปก็นับเป็นค่าใช้จ่าย รับเงินสดเข้ามาเมื่อไหร่ก็นับเป็นรายรับ และจริงๆแล้วมันก็เป็นวิธีที่ดูกระแสเงินสดได้ดี แต่มันเป็นปัญหาตอนที่จะจับคู่ว่าค่าใช้จ่ายอันไหนเกิดคู่กับรายได้รายการไหนมันดูยากครับ และเริ่มทำให้เราสับสนกรณีที่ลักษณะธุรกิจมีการจ่ายต้นทุนสินค้าและเก็บเงินจากลูกค้าช่วงเวลาห่างกันมาก ถ้าคุณดูที่ตารางตัวอย่างในบทที่แล้ว จะทำให้เราไม่รู้ว่าสรุปเรากำไรหรือไม่กำไรกันแน่ บางช่วงดูกำไร บางช่วงดูขาดทุน นี่ขนาดแค่ตัวอย่างแบบง่ายแล้วด้วย

ทีนี้กับกิจการขนาดใหญ่ และอันนี้รวมถึงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นทั้งหมดด้วย เค้าจะใช้เกณฑ์คงค้างทั้งหมดเลยครับ เพราะวิธีนี้จะบันทึกรายได้ตามเวลาที่เกิดการซื้อขายเกิดขึ้นจริงแม้ว่าเราอาจจะมาได้เงินตามทีหลัง และจะบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับรายได้อันนั้นควบคู่ไปด้วยกันเสมอ วิธีนี้ทำให้เรารู้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจที่เราทำเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่าไหร่แน่ และเห็นค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกันตลอดทุกๆรอบบัญชี แต่ทีนี้เนื่องจากเราบันทึกว่ามีรายได้ทันทีที่เกิดการขายโดยที่อาจจะไม่มีเงินสดเข้าจริง แปลว่าบัญชีรายรับรายจ่ายอาจจะดูดีมากเลย แต่ไม่มีเงินซักบาทเลยก็ได้ ดังนั้นบริษัทพวกนี้เค้าก็จะมีงบที่เอาไว้ติดามดูเงินสดโดยเฉพาะ ซึ่งก็จะเรียกว่า “งบกระแสเงินสด” หรือ “Cash flow statement” ครับ

โอเคดังนั้นเมื่อเข้าใจแล้ว ผมสรุปสาระสำคัญคุณต้องเข้าใจสองอย่าง อย่างแรกคืองบการเงินของหุ้นที่เราอ่านๆอยู่นั้น บันทึกด้วยวิธีเกณฑ์คงค้างทั้งหมดนะ แล้วคุณก็เข้าใจจุดบอกของมันแล้วด้วย และอย่างที่สองคือคุณต้องพิจารณางบกระแสเงินสดเพิ่มเติมเพื่ออุดจุดบอดนั้น