Adjusted Net Profit คืออะไร? ต่างยังไงกับ Net Profit ปกติ?

What is "Adjusted Net Profit"? And how does it differ from normal "Net Profit"?

Adjusted Net Profit คืออะไร? ต่างยังไงกับ Net Profit ปกติ?

ล่าสุดมีนักเรียนถามเข้ามาว่า Adjusted Net Profit นี่มันคืออะไร

บางบริษัทจะมีรายงานตัวเลข Adjusted แบบนี้เพราะผู้บริหารมองว่าตัวเลขที่รายงานตามมาตรฐานบัญชีอาจจะไม่สะท้อนผลประกอบการจริงของบริษัท  ดังนั้นตัวเลข Adjusted นี่มันก็ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าจะต้องปรับยังไงบ้างและแต่ละบริษัทก็ไม่เหมือนกัน  กฎในการรายงานก็คือแค่ว่าต้องมีคำอธิบายว่าตัวเลข Adjusted นี้มาได้ยังไงเท่านั้นเอง

ข้อดีมันก็มีอยู่  คือบางทีบริษัทก็มีรายการในงบการเงินบางอันที่น่าจะเกิดครั้งเดียวจริงๆ  และดังนั้นตัวเลข Adjusted ที่ตัดพวกนั้นออกมันก็ช่วยให้นักลงทุนเปรียบเทียบผลประกอบการได้ง่ายขึ้น

แต่ข้อเสียคือถ้าเราประมาทก็อาจจะโดนหลอกให้รู้สึกว่าบริษัทดีเกินจริงได้  บางบริษัทก็อาจจะพยายามเสนอตัว Adjusted เพราะมันดูดีกว่า

หลักๆคือต้องตามดูว่ามัน Adjusted มายังไงบ้าง  แล้วเราก็ตัดสินใจเอาว่าสมควรดูเลขไหน

บางบริษัทก็ไม่ได้ใช้คำว่า Adjusted แต่มันก็เหมือนกัน  อย่างบริษัทในอังกฤษนิยมใช้คำว่า Underlying

เวลาบริษัทรายงาน EPS หรือจ่ายปันผลก็จะคำนวณมาจากตัวปกติตามมาตรฐานบัญชี  ไม่ใช่ตัวเลข Adjusted

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/courses

งบการเงินน่ารู้ : Income from Discontinued Operations

Income from Discontinued Operations

งบการเงินน่ารู้ : Income from Discontinued Operations

รายการนี้ภาษาไทยชื่อมันจะประมาณว่า “กำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงานที่ยกเลิก”  ซึ่งมันก็ความหมายตรงกับชื่อนะ มันเป็นกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นแหละ แต่เป็นตัวธุรกิจที่กำลังจะไม่ทำต่อซึ่งอาจจะอยู่ในสถานะที่กำลังจะขายให้คนอื่นหรือได้เลิกทำไปแล้วก็ได้  หมายความว่าปีต่อไปเราไม่ควรคาดหวังว่าจะมีกำไรหรือขาดทุนส่วนนี้อยู่

โดยกติกา  เค้าจะบันทึกเป็น Discontinued Operations ก็ต่อเมื่อมีลักษณะสองอย่างนี้

  1. กิจกรรมทางธุรกิจและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ยกเลิกนั้นจะต้องหายไป
  2. ภายหลังจากที่ Discontinued แล้ว  บริษัทจะไม่มีความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับการดำเนินงานที่ยกเลิกนั้นอีก  หมายความว่าต้องไม่สามารถจะไปมีอิทธิพลต่อการทำงานหรือเรื่องการเงินของการดำเนินงานที่ยกเลิกนั้นได้

 

เพื่อให้เห็นภาพ  ผมยกตัวอย่างสถานการณ์ให้ดูจากความเข้าใจผมนะครับ

  • สมมติธุรกิจผมผลิตเสื้อผ้าแล้วขาย  วันนึงผมรู้สึกว่าเสื้อเชิ้ตสีทองขายไม่ดีก็เลยจะเลิกขาย  เสื้อเชิ้ตสีทองนี้เป็นหนึ่งในสินค้าภายใต้หมวดใหญ่ที่มีการบันทึกข้อมูลเงินเข้าออกซึ่งคือเสื้อ  แต่ผมไม่ได้มีการบันทึกข้อมูลเงินเข้าออกโดยเฉพาะเจาะจงกับเสื้อเชิ้ตสีทอง กรณีแบบนี้ก็ไม่ต้องบันทึกเป็น Discontinued Operations
  • ถ้าเกิดวันนึงผมจะขายธุรกิจหมวดเสื้อทิ้งทั้งหมดแล้วไม่เกี่ยวข้องอะไรกันอีก  กรณีนี้ก็ต้องบันทึกเป็น Discontinued Operations
  • แต่ถ้าสมมติที่ผมขายธุรกิจหมวดเสื้อ  ผมขายไปโดยมีสัญญากันอยู่ว่าคนที่ซื้อจากผมไปต้องซื้อวัตถุดิบจากผมเท่านั้น  และดังนั้นรายได้ผมก็จะยังมีจากธุรกิจหมวดเสื้อนั้นเป็นรายได้หลักของธุรกิจถึงแม้ว่าเจ้าของจะเปลี่ยนคนไปแล้ว  แบบนี้ก็ไม่บันทึกเป็น Discontinued Operations

 

ผมเข้าใจว่ากติกาของ GAAP กับ IFRS ก็จะมีความแตกต่างกันอีกนะ  และต้องเข้าใจว่าผมไม่ได้เป็นนักบัญชีดังนั้นที่ผมอธิบายอาจจะเข้าใจผิดก็ได้นะ  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมว่าสาระสำคัญที่เราควรเข้าใจเวลาเห็นรายการนี้บนงบการเงินก็คือว่าตัวรายการนี้มันจะหายไปในอนาคต  ที่เค้าเขียนแยกออกมาก็เพื่อจะให้ข้อมูลกับเราว่าผลกระทบของการเลิกหรือขาย Operations นั้นจะเป็นเท่าไหร่ยังไง และดังนั้นเราควรตัดมันออกไปจากการพิจารณาผลประกอบการของบริษัทครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ระวังกับดัก Non-Recurring Items

Beware of non-recurring items

ระวังกับดัก Non-Recurring Items

ปกติเวลาเราจะดูว่าบริษัทผลประกอบการเป็นยังไงบ้างเราก็จะดูว่ามันกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ใช่มั้ยครับ  และเพื่อความสะดวกปกติเราก็จะไม่ได้ไปเปิดงบการเงินตัวจริงหรอก ส่วนใหญ่เราก็จะดูตัวเลขนี้บนหน้าเวปที่ทำการดึงตัวเลขสรุปออกมาอีกทีอย่างเวป SET หรือ Morningstar ถูกมั้ยครับ  ซึ่งมันก็ไม่ผิดอะไรนะเพราะผมก็ทำเหมือนกัน แต่ผมจะมาบอกว่าเวลาดูต้องใช้ความระมัดระวังอย่าประมาทเกินไป เพราะบางทีตัวเลขกำไรขาดทุนนั้นมันมีพวกรายการพิเศษอยู่

รายการพิเศษหรือปกติผมจะเรียกว่า Non-recurring items คือรายได้หรือรายจ่ายที่มันไม่ใช่เรื่องปกติในธุรกิจของบริษัทและไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นอีก  อย่างเช่นรายได้จากประกันชดเชยความเสียหายน้ำท่วม, กำไรขาดทุนจากการขายบริษัทย่อย, ตัดจำหน่าย Goodwill, ฯลฯ

โดยปกติรายการพิเศษนี่มันก็จะไม่ใหญ่และดังนั้นจะมีผลกับกำไรขาดทุนไม่เยอะ  แต่บางครั้งมันก็ใหญ่ซะจนทำให้ผลประกอบการเพี้ยนไปเลยก็มี พลิกจากขาดทุนเป็นกำไรเลยก็มี  หรือจากกำไรกลายเป็นขาดทุนเลยก็มี ดังนั้นเวลาเราอ่านงบการเงินเราควรตัดรายการพวกนี้ทิ้งไปเพราะมันจะให้ภาพของบริษัทดีหรือแย่ผิดปกติกว่าความเป็นจริง  คือมันเป็นกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นจริงแหละ แต่แค่ว่ามันไม่น่าจะเกิดขึ้นอีกเท่านั้นเอง

ตัวอย่างเช่นกรณี TRUE ปี 2557, BH ปี 2558, CVS ปี 2561
 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

อ่านงบบัญชีอย่างเดียว โดยไม่ศึกษาธุรกิจได้มั้ย ??

Can we rely solely on financial statements, without any understanding of business characteristics ??

อ่านงบบัญชีอย่างเดียว โดยไม่ศึกษาธุรกิจได้มั้ย ??

โดยปกติผมจะบอกว่าเวลาเรามองธุรกิจที่ยอดเยี่ยมให้ดูที่ลักษณะธุรกิจที่เค้าทำแล้วพยายามทำความเข้าใจว่าบริษัทนั้นมีอำนาจในการบังคับผู้บริโภคหรือเปล่าก่อน  หลังจากคิดว่าบริษัทนั้นมีอำนาจแล้วค่อยไปดูผลการดำเนินงานอีกทีว่ามันสอดคล้องกับสิ่งที่เราคิดมั้ย ซึ่งถ้ามันเป็นธุรกิจที่ยอดเยี่ยมจริงมันจะต้องผ่านทั้งสองเรื่องแหละ  เพราะธุรกิจที่มีอำนาจบังคับผู้บริโภคได้ก็จะทำกำไรได้ดีด้วย

แต่ทีนี้มีคนถามว่าเค้าไม่ถนัดการดูลักษณะธุรกิจ  สมมติใช้วิธีดูงบการเงินอย่างเดียว เช่นดูเทรนด์ของรายได้กับกำไรย้อนหลัง 10 ปีแทนการดูลักษณะธุรกิจเลยได้มั้ย  เพราะยังไงธุรกิจที่ดีมันก็ต้องมีผลการดำเนินงานที่ดีอยู่แล้วนี่ เราก็ดูตัวเลขไปเลยไม่ดีกว่าเหรอ ซึ่งเป็นคำถามที่ดีมากเลยนะครับ  ต้องชมคนถามจริงๆ

ตอบตามตรงเลยคือถ้าเปิดดูงบการเงินเพื่อใช้กรองดูว่าน่าสนใจจะไปศึกษาจริงจังต่อมั้ยอันนี้ผมว่าโอเคไม่มีปัญหา  แต่ถ้าสมมติจะซื้อหุ้นเลยโดยที่ไม่ทำความเข้าใจลักษณะธุรกิจให้ดีก่อนผมแนะนำว่าอย่าดีกว่าครับ เพราะผมก็เคยทำแบบนั้นมาก่อนเหมือนกันครับ   แต่ผมพบว่าทำแบบนั้นมันยังมีช่องโหว่ทำให้เกิดความพลาดได้อยู่ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ครับ

  1. บริษัทอาจจะไม่มีอำนาจ  แต่ช่วงที่ผ่านมาบังเอิญเป็นช่วงอุตสาหกรรมนั้นบูมพอดี

เราอาจจะโดนหลอกได้  อันนี้เป็นอะไรที่ไม่ได้เจอบ่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าดูย้อนหลัง 10 ปี  แต่ก็เป็นไปได้อยู่นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2009-2018) มันเป็นช่วงฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจดังนั้นหลายบริษัทก็จะดูเป็นทิศทางขาขึ้น

ตัวอย่างเช่น Trucking ในอเมริกาตอนนี้ดูดีมากทุกบริษัทเพราะ E-Commerce บูม

หรืออย่างกลุ่มธนาคารในจีนก็จะดูดีมาก  เพราะช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนเติบโต ธนาคารไหนก็ดูดี

  1. ธุรกิจบางประเภทจะถูกตัดออกไปเพราะตัวเลขอัตราส่วนทางบัญชีดูไม่ดี  หรือบางบริษัทก็จะดูดีมากทั้งที่มันก็ธรรมดาในธุรกิจประเภทนั้น

ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของธุรกิจที่ต่างกันจะทำให้ตัวเลขอัตราส่วนทางบัญชีบางตัวต่างกันมาก  เอาง่ายๆอย่าง Net Profit Margin ที่ต่ำไม่ได้แปลว่ามันจะต้องไม่ดีเสมอไป อย่าง Makro อยู่ 3%  หรือ Costco อยู่ 1% พวกนี้ธุรกิจเข้มแข็งมากแทบไม่มีคู่แข่งที่ทำแบบเดียวกัน

ธุรกิจธนาคารก็เป็นอีกตัวที่ต่างมาก  ROE ธนาคารมันสูงกว่าธุรกิจอื่นดังนั้นจะดูดีมาก  แต่ถ้าดูพวกอัตราส่วนเกี่ยวกับหนี้ก็จะบอกว่าบริษัทบ้าอะไรเสี่ยงมาก  ROA ก็จะต่ำมากโดยปกติเกิน 1% ก็เยี่ยมละ

  1. บางบริษัทที่มีอำนาจผลประกอบการขึ้นลงเพราะใหญ่จัด

บางบริษัทที่เข้มแข็งมากก็มีผลประกอบการแกว่งขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ  อย่าง Thor

  1. และที่เลวร้ายสุดเลยคือเจอบริษัทที่ทำงบบัญชีหลอก

สุดท้ายบริษัทมันก็โดนจับได้แหละ  แต่เราอาจจะโดนหลอกไปก่อนแล้ว

ผมเคยเจอบริษัทในอินเดียที่ผลประกอบการดูดีมาก  เป็นทิศทางเติบโตสม่ำเสมอ แต่ที่เอะใจคือมันเป็นบริษัทขายข้าว  ซึ่งในหัวผมคือมันเป็นไปไม่ได้เลยที่มันจะสม่ำเสมอขนาดนี้ในเมื่อเราก็รู้อยู่ว่าสินค้าเกษตรราคาเปลี่ยนแปลงทุกปีผลผลิตเปลี่ยนแปลงทุกปี  บริษัทมันจะสม่ำเสมออะไรขนาดนั้น ก็เลยไม่ได้ซื้อหรือดูต่อ แล้วผ่านไปซักพักก็ได้ข่าวบริษัทนี้ผู้บริหารโดนจับครับ

 

ดังนั้นกล่าวโดยสรุปคือผมแนะนำว่ายังไงก็ต้องดูพิจารณาตัวธุรกิจครับ  คือถ้าจะกรองหยาบๆด้วยการเปิดงบการเงินย้อนหลังดูนี่ผมโอเคนะ ไม่มีปัญหาเลยทำตามสบาย  แต่เหนื่อยหน่อยเพราะถ้าเริ่มด้วยการดูงบการเงินมันก็จะกลายเป็นว่าต้องเปิดดูทุกตัวใช่มั้ยครับ  แทนที่จะเป็นเริ่มจากธุรกิจที่เราคิดว่าน่าสนใจมีอำนาจแล้วค่อยไปดูงบการเงินคอนเฟิร์มเฉพาะตัวที่เราสนใจ  แต่ถ้าจะตัดสินใจซื้อหุ้นเลยแบบเอาเงินจริงไปลงทุนในบริษัทเลยแต่ไม่ได้พยายามทำความเข้าใจลักษณะธุรกิจนี่ผมไม่เห็นด้วยครับ  เคยทำละครับไม่เวิร์คครับ เตือนด้วยความหวังดี

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg