วิธีประเมินมูลค่าหุ้น อันไหนดีสุด ?

What is the best valuation method ?

วิธีประเมินมูลค่าหุ้น อันไหนดีสุด ?

มีคนถามเกี่ยวกับวิธีประเมินมูลค่าหุ้นว่าวิธีไหนดีสุด  วันนี้เราเลยถือโอกาสอธิบายให้เห็นภาพว่าวิธีประเมินมูลค่าหุ้นมันมีอะไรบ้าง  แต่ละอันต่างกันอย่างไร และวิธีไหนดีที่สุดครับ  

หัวข้อนี้เป็นเนื้อหาที่ผมสอบ CFA Level 2 ผ่านไปแล้วพอดี  ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้มันเยอะเนื้อหามีเป็นเล่มเลยครับ แต่ผมจะพยายามอธิบายมันคร่าวๆละกันนะ

วิธีประเมินมูลค่าบริษัทมันจะแบ่งเป็น

  1. Income approach หรือ Present value models
  2. ไอเดียหลักคือมูลค่าของทรัพย์สินมันควรจะคิดจากผลประโยชน์ที่เราคาดว่าจะได้รับจากการที่เราเป็นเจ้าของมัน  ดังนั้นถ้าเราประมาณการผลประโยชน์ที่เราคาดว่าจะได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วคิดลดผลประโยชน์เหล่านั้นทั้งหมดกลับมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน  ตัวเลขที่ได้มาจากการคำนวณก็ควรจะเป็นมูลค่าของทรัพย์สินนั้น

    วิธีการกลุ่มนี้มันก็จะมีแยกย่อยออกไปอีกและแต่ละวิธีก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก  อันหลักๆที่ได้รับความนิยมก็จะเป็น

    • คิดลดตัวปันผล (Discounted Dividend)  ตรงไปตรงมาสุด ข้อมูลมีอยู่แล้วด้วย แต่มันก็จะมีปัญหากับบริษัทที่ไม่จ่ายปันผล  หรือจ่ายปันผลห่างจากกำไรสุทธิที่ทำได้เยอะมาก
    • คิดลดความสามารถในการจ่ายปันผล (Discounted Free Cash Flow)  Free Cash Flow นี่หมายถึงกระแสเงินสดที่มาจากการดำเนินงานและหักส่วนที่ต้องใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนและลงทุนในสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจแล้ว  อันนี้ก็ออกมาแก้ความเสียเปรียบของการคิดลดตัวปันผล ในทางคอนเซปต์ก็เหมาะสมมากใช้ได้กับหุ้นที่จ่ายและไม่จ่ายปันผล แต่ข้อเสียคือข้อมูลมันไม่มีต้องทำการบ้านเยอะ  ปกติที่ต้องใช้การเดาอยู่แล้วยิ่งต้องเดาเยอะขึ้นไปอีก มีทำกัน 2 แบบหลักๆคือคิดลดตัว Free Cash Flow to Equity กับ Free Cash Flow to the Firm  

    สำหรับคนต้องการรายละเอียดวิธีทำเราเคยมีอธิบายไว้ในวีดิโออื่น

    https://youtu.be/vNQ7KMoAZDY

    https://youtu.be/GJwSPsFFdWg

    https://youtu.be/t5nIoL5-GiE

    โดยภาพรวมของวิธีการนี้ข้อดีคือหลักการมันถูกต้องสุดละ  แต่ข้อเสียคือมันมีตัวแปรที่ยากมากอยู่สองเรื่องคือการประมาณการผลประโยชน์ที่เราคาดว่าจะได้รับในอนาคต  และอัตราผลตอบแทนที่ใช้ในการคิดลดซึ่งโดยหลักการแล้วควรจะต้องเป็นผลตอบแทนที่สะท้อนความเสี่ยงของทรัพย์สินนั้นซึ่งก็มีหลายทฤษฎีอีกว่าควรจะคิดมายังไง

     

  3. Market approach หรือ Pricing multiples
  4. ไอเดียหลักมาจาก Law of one price ซึ่งบอกว่าของที่เหมือนๆกันในตลาดก็ควรจะมีราคาขายเท่าๆกัน

    หรือว่าง่ายๆคือวิธีการก็คือดูว่าโดยเฉลี่ยกลุ่มบริษัทหรือกลุ่มทรัพย์สินที่ลักษณะใกล้เคียงกับอันที่เราสนใจมันขายกันอยู่ในตลาดเท่าไหร่แล้วมาเทียบกันกับอันที่เราสนใจ  วิธีการกลุ่มนี้ก็มีหลากหลายเช่นกัน แต่ที่นิยมใช้ส่วนใหญ่ก็คือการเทียบราคาหุ้นกับปัจจัยพื้นฐานบางอย่างของบริษัทว่าเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ เช่นราคาเทียบกับกำไร (P/E), ราคาเทียบกับมูลค่าทางบัญชี (P/B), ราคาเทียบกับยอดขาย (P/S), ราคาเทียบกับปันผล (Dividend yield)  หรือไม่ก็เทียบราคาของทั้งบริษัท (Enterprise Value) กับ EBITDA อันนี้คล้ายๆกับ P/E แหละแต่ต่างตรงที่มองจากมุมมองของทั้งบริษัทไม่ใช่เฉพาะจากมุมมองของผู้ถือหุ้น

    โดยภาพรวมวิธีการนี้ข้อดีคือมันใช้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้วในตลาดไม่ต้องอาศัยการเดาตัวเลขในอนาคต  แต่ข้อเสียคือมันประเมินมูลค่าของบริษัทในเชิงเปรียบเทียบ ถ้าสมมติฐานที่บอกราคาตลาดเหมาะสมแล้วไม่เป็นจริงปุ๊บการประเมินมูลค่าก็อาจจะเพี้ยน  เช่นถ้าตลาดโดยเฉลี่ยแล้วแพงเกินไปทั้งตลาด ต่อให้หุ้นที่เราสนใจดูถูกเมื่อเทียบกับตลาดก็ไม่ได้แปลว่าหุ้นมันราคาถูก มันอาจจะราคากลางๆเหมาะสมแล้วหรือจริงๆยังแพงไปก็ได้  ตัวอย่าง Dotcom bubble ในอเมริกางี้

     

  5. Asset-based approach
  6. ไอเดียหลักคือไปดูว่าบริษัทมีทรัพย์สินอะไรมูลค่าเท่าไหร่แล้วก็หักหนี้สินออกไปได้มาเป็นมูลค่าของบริษัท

    วิธีการนี้มีที่ใช้จำกัด  โดยปกติเค้าจะใช้กับบริษัทที่กำลังจะเลิกกิจการกำลังจะขายทรัพย์สินจ่ายหนี้แล้วคืนเงินให้กับผู้ถือหุ้น  หรือไม่ก็ใช้กับบริษัทที่ทำธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติเช่นเหมือง, ทำป่าไม้, ฯลฯ เช่นดูว่าแร่ที่มีอยู่ในเหมืองมีจำนวนเท่าไหร่  คาดว่าราคาตลาดที่จะขายได้คือเท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายในการขุดแร่พวกนี้ขึ้นมาเท่าไหร่

 

ทีนี้อันไหนดีสุด  ส่วนตัวแล้วผมก็จะบอกว่าวิธีการแบบที่ 1 ที่ทำการคิดลดผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตเนี่ยแหละครับคือดีสุดละ  ถึงแม้ว่ามันจะมีความยากและมีจุดบอดเรื่องตัวแปรที่ใช้ก็ตาม แบบที่ 3 มันชัดเจนอยู่แล้วว่าใช้ได้จำกัด ส่วนแบบที่ 2 ผมก็เห็นอยู่ว่ามันมีจุดบอดตรงสมมติฐานว่าตลาดถูกต้องและเหมาะสมแล้ว

ปัจจุบันนี้คนในวงการส่วนใหญ่เห็นด้วยตรงกันว่าวิธีคิดลดความสามารถในการจ่ายปันผล (Discounted Free Cash Flow) ดีกว่าการคิดลดปันผล (Discounted Dividend)  แต่ปัจจุบันวิธีที่ผมใช้อยู่เป็นหลักคือ Discounted Dividend แต่เปลี่ยน terminal value แทนที่จะคิดแบบปันผลโตไป infinity ผมใช้ Price multiple แทน ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะผมรู้สึกว่ามันง่ายกว่าที่จะไปประมาณ Free Cash Flow และสุดท้ายวิธีการไหนมันก็อาศัยการทำนายอนาคตซึ่งไม่มีทางแม่นยำอยู่ดี  ดังนั้นผมเห็นการประเมินมูลค่าหุ้นว่ามีไว้เพื่อให้เราพอจะบอกได้คร่าวๆเท่านั้นเองว่าตอนนี้ราคาหุ้นมันถูกหรือแพง ไม่ได้มีไว้เพื่อคำนวณให้ได้ตัวเลขเป๊ะๆ

สรุปคือมันไม่มีวิธีอะไรที่ทำให้เราทำนายอนาคตได้  ผมถึงบอกเสมอว่าอย่าไปกังวลกับวิธีการประเมินมูลค่าหุ้นมากนัก  คุณก็ใช้วิธีการที่รู้สึกว่ามันสมเหตุสมผลสำหรับคุณน่ะแหละ แล้วเอาเวลาไปศึกษาทำความเข้าใจตัวธุรกิจของบริษัทดีกว่า  มีประโยชน์กว่ากันเยอะครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี