ภาษาหุ้นวันนี้ 9: ADR กับ GDR

Financial Terms 9: ADR and GDR

หัวข้อวันนี้สำหรับคนที่เริ่มลงทุนในต่างประเทศไปแล้วซักพักนึง  สองคำนี้บางทีเราจะเห็นต่อท้ายหุ้นบางตัว  มักเจอในตลาดอเมริกา, อังกฤษ  และเยอรมัน  มันแปลว่าอะไรกันแน่และต่างจากหุ้นปกติหรือเปล่า  วันนี้เราอธิบายเรื่องนี้กันครับ

ADR = American Depository Receipt

GDR = Global Depository Receipt

หลักการคือ  มีสถาบันการเงินที่ไปซื้อหุ้นต่างประเทศมาถือเก็บไว้ในบัญชีตัวเอง  แล้วก็ทำการออกใบแสดงสิทธิที่อ้างอิงหุ้นต่างประเทศนั้นมาขายในตลาดหุ้นในประเทศ

ADR หรือ GDR ก็คือไอตัวใบแสดงสิทธินี่แหละ  ต่างกันแค่ ADR คือใบแสดงสิทธิที่มาขายในอเมริกา  ซื้อขายบนกระดานตลาดหุ้น NYSE (New York Stock Exchange)  ส่วน GDR คือขายอยู่ในตลาดหุ้นอื่นๆเช่น

ดังนั้นถ้าเราเห็นคำว่า ADR หรือ GDR หลังชื่อบริษัท  หมายความว่าตัวนั้นมันไม่ใช่หุ้นจริงๆ  มันเป็น Depository Receipt (ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง)  ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือเหมือนกับการถือหุ้นจริงน่ะแหละ  เพียงแต่เราไม่ได้ถือหุ้นตรงๆเป็นการถือผ่านสถาบันการเงินที่ออกใบแสดงสิทธินี่แทน

การซื้อขาย ADR กับ GDR ก็เหมือนการซื้อขายหุ้นปกติเนี่ยแหละ  เพียงแต่ราคาซื้อขายจะตามสกุลเงินของตลาดที่ ADR กับ GDR ซื้อขาย  ไม่ใช่สกุลเงินดั้งเดิมที่ตัวหุ้นนี่จดทะเบียนอยู่

วัตถุประสงค์ของการมีใบแสดงสิทธิ  คือทำให้การลงทุนในหุ้นต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้นและราคาถูกลงสำหรับนักลงทุนรายย่อย  เพราะถ้านักลงทุนรายย่อยไปซื้อเอาอาจมีค่าธรรมเนียมนู่นนี่แพง

ตัวอย่างความมีประโยชน์จากประสบการณ์จริง  เช่น  ผมสนใจบริษัท Magnit PJSC  เป็นกลุ่มร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ในรัสเซีย  ขายหุ้นในตลาดรัสเซีย  ซึ่งอย่างพอร์ตหุ้นต่างประเทศของ SCBS ที่ผมเปิดอยู่จะไปซื้อไม่ได้เพราะเค้าไม่มีติดต่อไว้

สุดท้ายซื้อได้อยู่ดี  เพราะ Magnit PJSC มีสถาบันการเงินไปซื้อแล้วออก GDR อยู่ในตลาดหุ้นอังกฤษ London Stock Exchange ซึ่งพอร์ตของ SCBS ซื้อได้

สรุป  ADR กับ GDR ก็ไม่มีอะไรหรอก  เป็นวิธีการเอาหุ้นในตลาดนึงมาซื้อขายในอีกตลาดนึงเท่านั้นเอง  ซื้อได้ครับไม่มีปัญหาอะไร  ผมลองดูละ

ปล.  แต่ทีนี้ราคา GDR มันจะสะท้อนตามหุ้นจริงแค่ไหนผมก็ยังไม่ทราบเพราะนี่ก็เพิ่งซื้อเป็นครั้งแรกเหมือนกันครับ  ไว้ถ้าทราบเพิ่มเติมจะมาเขียนบอกนะ