ภาษาหุ้นวันนี้  4:  อัตราส่วน PEG หรือ อัตราส่วน P/E ต่อ Growth

Financial Terms 4:  PEG Ratio or P/E to Growth Ratio

มาถึงอันนี้คนส่วนใหญ่ผมว่าอาจจะยังไม่เคยได้ยิน  ส่วนตัวผมตอนสมัยเรียนไฟแนนซ์ในมหาวิทยาลัยก็ไม่มีพูดถึงครับ  ที่มาของอัตราส่วนอันนี้มันมีมาจากการที่เค้าพยายามแก้จุดบอดของการพิจารณาอัตราส่วน P/E อย่างเดียวน่ะครับ  สำหรับคนที่หลุดมาอ่านบทความนี้โดยที่ยังไม่รู้ว่าอัตราส่วน P/E คืออะไร  แนะนำให้ลองไปอ่านบทความเกี่ยวกับ P/E    อย่างที่พวกเราพอจะทราบอยู่แล้วอัตราส่วน P/E นี่มันบางทีบอกไม่ได้ว่าหุ้นแพงหรือไม่แพงกันแน่  เพราะ P/E ที่สูง  ก็ไม่ได้แปลว่าแพงเกินไปเพราะอาจจะมาจากเหตุว่าเป็นหุ้นที่เติบโตดีมาก  หรือ P/E ที่ต่ำ  ก็ไม่ได้แปลว่าของถูกน่าซื้อ   เพราะอาจเป็นบริษัทไม่โตเลยราคาเลยไม่สูง  มันเป็นแบบนี้แหละครับ  เค้าเลยพยายามหาวิธีพิจารณาเพิ่มเติม  ซึ่งก็ได้ไอเดียมาเป็นว่าเออเราเอา P/E มาถ่วงด้วยอัตราการเติบโตดีกว่า  จะได้สูตรเป็นแบบนี้ครับ

PEG ratio  = อัตราส่วน P/E หน่วยเป็นกี่เท่า  /  อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น หน่วยเป็น %

เวลาคำนวณ  สมมติหุ้น XYZ มี P/E อยู่ที่ 20 เท่า  และที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นเฉลี่ย 10%

PEG ratio  =  20 / 10 =  2

ทีนี้โดยภาพรวมเนี่ย  ยิ่ง PEG เป็นค่าที่น้อยก็ยิ่งดี  เพราะแปลว่าราคา (P/E) ที่เป็นตัวเศษในสูตร  เป็นอัตราส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของกำไร  ซี่งเป็นตัวส่วนสูตร  โดยทั่วๆไปแล้วสิ่งที่เค้านิยมกันก็คือบอกว่า  ถ้า PEG อยู่ที่ 1 พอดีก็ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม  ถ้าน้อยกว่า 1 คือถูก  ส่วนมากกว่า 1 ก็คือแพง  โดยประมาณ

ปัญหาที่มันจะมีเกี่ยวกับสูตรนี้คือ  อย่างแรกเลยคือการเลือกใช้ตัวที่มาคิดเลขครับ  อย่าง P/E เนี่ย  เอา P/E เฉลี่ยเหรอ  เฉลี่ยกี่ปี  แล้วตัวอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นนี่คือใช้อดีตที่ผ่านมาหรืออนาคต  แน่นอนถ้าใช้ตัวประมาณอนาคตก็จะตรงประเด็นมากกว่า  แต่ก็ต้องคาดเดาอีกน่ะแหละว่าอัตราการเติบโตในอนาคตจะเป็นเท่าไหร่แน่

และปัญหาอย่างที่สองก็คือ  ว่าตัวเลขที่ได้นี่มันก็เป็นการมองภาพกว้างๆมาก  จะเอามาตัดสินใจอะไรทันทีก็อาจจะไม่เหมาะสม  ความเห็นส่วนตัวก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาผมไม่ได้ใช้อัตราส่วนนี้น่ะครับ  เลยไม่รู้จะบอกว่ามันแม่นมั้ยหรือยังไงดี  แต่อยากให้เข้าใจแบบนี้  คืออัตราส่วนนี้เนี่ยเป็นที่นิยมใช้กันมากในหมู่นักลงทุนมืออาชีพ  และเป็นอัตราส่วนที่สำคัญก็จริง  แต่เค้าไม่ได้ใช้ฟันธงตัดสินใจว่าซื้อแน่นอนหรือไม่ซื้อแน่นอน  ส่วนใหญ่จะใช้ในการประกอบการตัดสินใจ  หรือเอาไว้ใช้เป็นเกณฑ์ดูคร่าวๆแวบแรกก่อนที่จะไปลงรายละเอียดอีกที

แต่สุดท้ายนี้ก็อยากจะฝากไว้ว่า  โดยปกติแล้วในหมู่นักลงทุนอาชีพ PEG ratio ได้รับความนิยมกว่าการพิจารณา P/E ratio อย่างเดียวแน่นอน