งบการเงินบริษัทที่ดี หน้าตาเป็นยังไง ?

What does a good company's financial statement like ?

งบการเงินบริษัทที่ดี หน้าตาเป็นยังไง ?

มีคนเสนอให้ทำวีดิโอดูงบการเงินบริษัทที่ดีบ้าง ตอนแรกก็ว่าจะไม่ทำละ แต่คิดดูก็ทำซะหน่อยก็ดีเพราะที่ผ่านมาก็ดูเหมือนจะไม่เคยทำหัวข้อนี้จริงๆ

บริษัทที่ดีมันก็มีเยอะไปหมด ในเมื่อไม่มีโจทย์อะไรเป็นพิเศษเราสุ่มมาเปิดให้ดูเป็นตัวอย่างซักอัน วันนี้เราเอา HMPRO และ T. Rowe Price มาเป็นตัวอย่างครับ โดยสรุปเรื่องหลักๆที่ผมจะพิจารณาก็เหมือนเดิมกับทุกครั้งคือผมดูดังนี้

โดยปกติส่วนตัวผมนิยมมองไปที่งบกำไรขาดทุนก่อน และเหมือนกับวีดิโอก่อนๆที่เคยอธิบายไว้สิ่งที่ผมพิจารณาคือดูว่าบริษัท
• ขายของได้เพิ่มมั้ย
• ขายเพิ่มแล้วกำไรเติบโตมั้ย
• Margin สม่ำเสมอมั้ย
• มีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มพรวดพราดหรือเปล่า
บริษัทที่ดีมันก็จะแน่นอน ขายได้เพิ่ม กำไรโต Margin สม่ำเสมอ ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรโตพรวดผิดปกติ

แล้วสมมติเราเห็นว่าบริษัทมีกำไรดีนะ เราก็ถัดมาดูงบกระแสเงินสดต่อเลยว่า
• กำไรที่ว่านี่กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเป็นบวกด้วยป่าว
• บริษัทเอาเงินสดไปทำอะไรบ้าง ต้องลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเยอะมั้ย
• มีกู้ยืมเงินจำนวนมากหรือเปล่า
บริษัทที่ดีก็แน่นอน กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเป็นบวก อาจจะมีการลงทุนบ้าง แต่ไม่ถึงกับต้องกู้ยืมเงินอะไรตลอด

แล้วสุดท้ายก็มาดูงบดุล
• ดูว่าลูกหนี้การค้ากับสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกับรายได้มั้ย
• หนี้สินที่เป็นพวกเงินกู้ระยะยาวเยอะป่าว
• มีการเพิ่มทุนในช่วงนี้มั้ย
บริษัทที่ดีเราก็จะเห็นลูกหนี้การค้ากับสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นตามรายได้ หนี้สินพวกเงินกู้ระยะยาวไม่เยอะ และไม่ต้องเพิ่มทุนอะไรกันบ่อยๆ

จบละครับ หน้าตางบการเงินบริษัทที่ทำได้ดีก็จะประมาณนี้แหละ

นอกเหนือจากนั้นก็คือพวกหมายเหตุประกอบงบการเงินในเรื่องต่างๆที่อยากทราบ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

อัตราส่วนทางการเงินอันไหนสำคัญสุด ?

Most important financial ratios

อัตราส่วนทางการเงินอันไหนสำคัญสุด ?

มีคนถามว่าอัตราส่วนทางการเงินอันไหนสำคัญสุด  ต้องดูอันไหนบ้าง  รู้สึกมันมีเยอะไปหมด  ในวีดิโอนี้ผมพูดถึงอันที่ผมมองว่าสำคัญสุดละกัน  โดยเราจะพูดถึงสำคัญ 3 อันดับแรกนะ  เพราะถ้าพูดถึงเยอะกว่านั้นมันก็จะปัญหาเดิมคือรู้สึกมันมีเยอะไปหมด

1. Return on Equity

อันนี้สำคัญสุดละ  เพราะอัตราส่วนนี้สื่อว่าเงินของผู้ถือหุ้นทุกๆ 100 บาทที่บริษัทเก็บไว้เอาไปทำให้เกิดกำไรได้กี่บาท  อัตราส่วนนี้ยิ่งเยอะยิ่งดีเป็นธรรมดา  ตัวเลขนี้อาจจะสูงได้ด้วยการที่บริษัทจ่ายปันผลออกมาเยอะๆทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเล็กก็เป็นไปได้  กรณีแบบนั้นก็ไม่ได้แปลว่าบริษัทแย่นะแค่ว่าไม่ได้แปลว่าดีมากเฉยๆ

2. Net Profit Margin

Net Profit Margin คือสื่อว่าจากทุกรายได้ 100 บาทที่บริษัททำได้  เมื่อหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้วเหลือกี่บาท  ตัวเลขนี้มันต่างกันแล้วแต่ลักษณะธุรกิจ  ผมให้ความสำคัญกับความสม่ำเสมอมากกว่า  กับดูว่ามันไม่ต่ำจนไม่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจ

3. Interest Coverage

อัตราส่วนนี้มันก็อยู่ในหมวด liquidity ratio  วัตถุประสงค์คือไว้ดูว่าบริษัทน่าจะจ่ายหนี้ได้มั้ย  ที่ผมนิยมใช้คือ EBIT/Interest expense  ผมไม่นิยมใช้ EBITDA/Interest expense  สิ่งที่อัตราส่วนนี้สื่อคือกำไรจากการดำเนินงานเป็นกี่เท่าของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย  ถ้ากำไรจากการดำเนินงานเป็นหลายเท่าของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย  ก็แปลว่าน่าจะสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้  ก็คือเสี่ยงน้อย  ดังนั้นอัตราส่วนนี้ยิ่งเยอะก็ยิ่งดี

สามอันนี้ส่วนตัวผมว่าสำคัญสุดครับ  ไม่ใช่บอกว่าอันอื่นไม่สำคัญนะ  แค่บอกว่าสามอันนี้สำคัญสุด  เป็นอันที่ยังไงผมต้องดูแน่ๆ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

Goodwill หรือค่าความนิยมนี่มันคืออะไร ?

What is Goodwill on a financial statement ?

Goodwill หรือค่าความนิยมนี่มันคืออะไร ?

มีคนเจอค่าความนิยมอยู่บนงบการเงินแล้วถามว่ามันคืออะไร

ค่าความนิยมหรือถ้าเป็นงบการเงินภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Goodwill เกิดขึ้นเมื่อมีการซื้อกิจการ  แล้วบริษัทที่เป็นคนซื้อซื้อด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาดของทรัพย์สินสุทธิของบริษัทที่ถูกซื้อ

เพื่อให้เห็นภาพนึกภาพงี้  สมมติบริษัท A ถูกซื้อโดยบริษัท B  บริษัท A มีทรัพย์สินสุทธิซึ่งประเมินตามราคาตลาดแล้วมูลค่า 100 บาท  แต่บริษัท B ซื้อบริษัท A ด้วยเงิน 130 บาท  อาจจะด้วยเพราะมองเห็นศักยภาพของบริษัท A ที่มากไปกว่าว่าทรัพย์สินสุทธิมีเท่าไหร่  บางทีความเจ๋งของบริษัท A อาจจะเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้เช่นชื่อยี่ห้อที่ลูกค้าเชื่อถือ, ความสร้างสรรค์ของพนักงาน, ฯลฯ  แต่เวลาจะบันทึกบัญชีจะทำไงล่ะ  ในเมื่อบริษัท B จ่ายเงิน 130 บาท  แต่ได้ทรัพย์สินมูลค่า 100 บาทมา  ส่วนต่างนั่นจะบันทึกยังไงดี  บันทึกว่าเป็นขาดทุนมั้ย  ก็ไม่น่าจะใช่นะ  ส่วนต่าง 30 บาทนั่นเค้าบันทึกว่าเป็น Goodwill ครับ

Goodwill นี่มีอายุไม่จำกัดด้วยนะ  ไม่ใช่ว่าต้องตัดจำหน่ายให้หมดภายในกี่ปีๆ  ตาม IFRS ล่าสุดคือบริษัทต้องประเมินเองว่า Goodwill มันด้อยค่าหรือเปล่า  ถ้าพบว่ามันด้อยค่าลงกว่าที่คาดก็ต้องบันทึกการด้อยค่านั้นเป็นค่าใช้จ่าย

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

บริษัทมีกำไร แต่ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ??

Negative Equity

บริษัทมีกำไร แต่ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ??

มีคนไปเจอบริษัทที่ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ  แต่เป็นบริษัทที่กำไรต่อเนื่องหลายปี  เค้าเลยงงว่ามันเป็นไปได้ไงแล้วแบบนี้หมายถึงบริษัทมันมีปัญหาหรือเปล่า

โดยปกติถ้าเราเห็นส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบก็แปลว่าไม่ดีแหละ  ส่วนใหญ่ก็มาจากการขาดทุนต่อเนื่องหลายปี  เอาซะจนส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ

แต่มันก็มีกรณียกเว้นได้เหมือนกัน  บริษัทที่กำไรต่อเนื่องหลายปีอาจจะมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบได้  ที่ผมนึกออกก็จะมีบริษัทซื้อหุ้นคืนซะจนส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ

ตัวอย่างเช่น Autozone

ในกรณีแบบนี้  บริษัทที่เห็นมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบก็ไม่ได้แปลว่าไม่ดี  อย่างกรณีแรกถ้าบริษัทจะสามารถทำได้ดีต่อไปในอนาคตก็ไม่มีปัญหา  ถึงจุดหนึ่งขาดทุนสะสมก็หายไปและกลายเป็นกำไรสะสมแทน  ส่วนกรณีที่สองก็ไม่มีปัญหาอะไรเช่นกันถ้าบริษัทจะยังสามารถทำธุรกิจได้ดีต่อไปเรื่อยๆ  บริษัทมีกำไรจ่ายหนี้ได้ก็ใช้ได้

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

เรื่องสำคัญสุดคือความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัท อย่ามัวแต่เสียเวลามากไป กับการประเมินมูลค่าหรืองบการเงิน

Prioritization issue

เรื่องสำคัญสุดคือความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัท อย่ามัวแต่เสียเวลามากไป กับการประเมินมูลค่าหรืองบการเงิน

หลังๆนี้ผมเริ่มสังเกตว่ามีนักเรียนผมหลายคนดูจะใช้เวลาวนเวียนอยู่เกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่เกิดประโยชน์เยอะไป  เช่นบางคนก็อินกับ valuation มาก  พยายามหาวิธีการนู่นนี่ที่ซับซ้อนเพราะคิดว่ามันจะทำให้เดาได้แม่นยำมากขึ้น  หรือไม่ก็กำลังงมอยู่ว่าวิธีการไหนใช้เมื่อไหร่แล้วอันไหนแม่นกว่ากัน  ส่วนอีกกลุ่มนึงก็อินกับเรื่องบัญชีมาก  คือเก็บรายละเอียดปลีกย่อยสุดๆแบบประมาณพวกที่รู้เพื่อไปสอบ  ไม่ได้มีประโยชน์อะไรในสาระสำคัญ  เช่น การ capitalized cost อย่างค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเข้าไปเวลาบริษัทสร้างตึกคืออะไรบันทึกยังไง  หรือบริษัทที่มีทำธุรกิจในหลายประเทศรายการบนงบการเงินแปลงอัตราแลกเปลี่ยนยังไง  อะไรแบบนี้เป็นต้น  ซึ่งทั้งหมดนี้ผมมองว่ามันเป็นการใช้เวลาที่เปล่าประโยชน์มาก

จนผมรู้สึกว่าต้องพยายามช่วยจัด priority เรียงลำดับความสำคัญให้  โดยรวมมันจะมีหัวข้อหลักๆอยู่ 3 เรื่องที่เราต้องศึกษาเวลาลงทุนในหุ้น

  1. เรื่องเกี่ยวกับตัวบริษัท
  2. การบันทึกบัญชี  งบการเงิน  อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ
  3. การประเมินมูลค่าหรือผลตอบแทน

ใน 3 หัวข้อนี้  ความสำคัญมันเรียงตามลำดับนั้นเลย

การประเมินมูลค่า  เป็นอะไรที่คนดูจะอินสุด  แต่จริงๆความสำคัญน้อยสุดเลย  คนส่วนใหญ่พยายามจะหาความมั่นใจมากขึ้นจากการที่ใช้วิธีการคำนวณที่ละเอียดซับซ้อน  ซึ่งผมก็เข้าใจความรู้สึกนะ  ถ้ามันมีวิธีการที่ทำให้เราทำนายอนาคตได้แม่นยำมากขึ้นมันก็ดี  แต่สุดท้ายต้องอย่าลืมว่ามันไม่มีวิธีการอะไรที่ทำนายอนาคตได้  แม้แต่เจ้าของบริษัทเลยคุณว่าเค้ารู้เลยมั้ยว่าปีหน้ายอดขายกับกำไรจะเป็นเท่าไหร่อย่างชัดเจน  แล้วลองนึกภาพดูนะ  คุณกับผมซึ่งมองจากมุมของคนนอกบริษัทอีกต่างหาก  เราจะสามารถเดาไปในอนาคตว่าบริษัทจะโตกี่ % ไปถึง infinity  แล้วคิดลดตัวเลขพวกนั้นกลับมา  เราจะทำแบบนั้นได้อย่างแม่นยำเป็นไปได้จริงเหรอครับ  คุณก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ป้ะ  ดังนั้นในเมื่อยังไงมันก็ไม่มีคำว่าแม่นยำ  วิธีการประเมินมูลค่าใดๆมันเอาไว้สำหรับกะคร่าวๆว่าตอนนี้หุ้นถูกหรือแพงเท่านั้น  คุณจะใช้วิธีการไหนก็ได้เอาที่มันดูสมเหตุสมผลสำหรับคุณก็โอเคละ

ส่วนเรื่องการบันทึกบัญชี  การเข้าใจรายละเอียดปลีกย่อยบนงบบัญชีมันก็ดี  แต่มากไปถึงจุดนึงมันจะเริ่มเกินความจำเป็นละ  มันไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจตัวบริษัทได้ดีขึ้นน่ะครับ  อย่าง capitalized cost งี้คือเรารู้ว่าบริษัทสามารถจะบันทึกค่าใช้จ่ายอย่างดอกเบี้ยที่จ่ายไปตอนช่วงสร้างตึกเป็นส่วนหนึ่งของ fixed asset แล้วค่อยๆทยอยรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายผ่านการตัดค่าเสื่อม  แล้วยังไงอ่ะ  รู้แบบนี้แล้วทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นยังไง  หรือสมมติอย่างเรารู้วิธีการบันทึกบัญชีเวลาบริษัททำธุรกิจในหลายประเทศงี้  เรารู้ว่ามันใช้วิธีต่างกันแล้วแต่ว่าสกุลเงินไหน  สกุลเงินต่างประเทศหรือสกุลเงินบริษัทแม่เป็นสกุลเงินที่ใช้งาน  แล้วยังไงอ่ะ

เรื่องงบการเงินนี่เอาแค่เข้าใจรายการหลักๆบนนั้น  เข้าใจว่างบการเงินแต่ละอัน income statement, balance sheet, cash flow statement ต้องการจะบอกอะไรกับเรา  ดูเสร็จแล้วรู้เรื่องว่าบริษัทรายได้เท่าไหร่จ่ายเรื่องอะไรไปสุดท้ายกำไรมั้ย  เก็บเงินได้ป่าว  มีใช้เงินสดไปกับเรื่องอะไรบ้าง  หนี้สินเยอะมั้ย  มีอะไรเพิ่มขึ้นหรือลดลงเยอะจนผิดสังเกตหรือเปล่า  แล้วก็รู้จักอัตราส่วนทางการเงินสำคัญๆ  เท่านั้นเพียงพอแล้วครับ  อย่าไปเสียเวลากับเรื่องการบันทึกบัญชีเยอะเกินไป  การอ่านงบการเงินหลักๆเอาไว้คอนเฟิร์มภาพของบริษัทที่เราศึกษามาว่ามันสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันมั้ย  มีอะไรผิดปกติหรือเปล่า  อย่าลืมว่าพวกนี้มันแค่บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วเท่านั้นเอง  มันไม่ได้ช่วยให้เรารู้เลยว่าบริษัทจะทำได้ดีต่อไปในอนาคตหรือเปล่า

เรื่องที่เราควรจะใช้เวลากับมันจริงๆ

เรื่องที่เราควรจะใช้เวลากับมันจริงๆเลยคือเรื่องของบริษัทครับ  เราควรจะอยากรู้ว่าบริษัททำอะไรเป็นไงมั่งอย่างละเอียด  และเราควรจะอยากรู้ว่าปัจจัยอะไรทำให้มันเป็นแบบนั้น  อะไรทำให้มันทำได้ดีสม่ำเสมอ  หรืออะไรทำให้มันทำได้แย่ลง  และเราก็ควรจะอยากรู้ว่าบริษัทมีแผนจะทำอะไรต่อหรือกำลังทำอะไรอยู่  เพราะสุดท้ายเราต้องการจะรวบรวมทั้งหมดสรุปสุดท้ายว่าในอนาคตเราเชื่อว่ามันจะทำได้ดีขึ้นหรือแย่ลงหรือเท่าๆเดิม  เพราะว่าอะไร  และเราใช้ข้อสรุปอันนี้ในการตัดสินใจประกอบกับราคาหุ้นว่าเราควรจะลงทุนในบริษัทนี้หรือเปล่า

ถ้าเราทำ part สำคัญที่สุดนี้ได้ถูกต้องนะ  เกือบจะกำไรแน่นอนละ  มากหรือน้อยเท่านั้นเองขึ้นกับว่าซื้อมาได้ถูกแค่ไหน  แต่ถ้า part นี้เราพลาดนะ  อนาคตบริษัททำได้แย่ลงเรื่อยๆนะ  ไม่ต้องห่วงครับ  ยังไงก็เละ  งบการเงินก่อนหน้านี้จะดีแค่ไหนไม่ใช่สาระละ  งบการเงินอันต่อๆมามันก็จะดูอนาถขึ้นเรื่อยๆ  เพราะงบการเงินมันบันทึกอดีตที่ผ่านไปแล้ว  และการประเมินมูลค่าก็ไม่ช่วยอะไรอยู่ละ  เพราะสมมติฐานเราผิดแต่แรกละไง  เราคิดว่าบริษัทมันจะดีแต่เราพลาด  ตัวเลขที่ได้จากการเดาอนาคตผิดๆก็เท่ากับขยะทั้งนั้นน่ะครับไม่ว่าจะใช้สูตรคำนวณยากขนาดไหนก็ตาม

ผมจะบอกว่ามีเพื่อนผมคนนึงนะ  เป็นตัวอย่างที่ดีมาก  งบการเงินเค้าดูคร่าวๆยังบ่นอยู่ว่าดูละเอียดมากไม่เป็น  ส่วน valuation นี่คือไม่สน DCF อะไรทั้งนั้นใช้ดู P/E อย่างเดียว  การตัดสินใจเน้นดูที่ตัวบริษัทดู fundamental อย่างเดียว  เพราะเพื่อนผมคนนี้เค้าเป็นคนทำธุรกิจ  เค้ามองการซื้อหุ้นเป็นการซื้อบริษัท  เวลาดูคือดูว่าอนาคตธุรกิจน่าจะไปได้มั้ยอย่างจริงจัง  model ธุรกิจแข่งขันได้หรือเปล่า  ได้เปรียบคู่แข่งยังไง  แล้วก็ซื้อที่ P/E มันไม่เว่อร์ไปก็เท่านั้นเอง  ตั้งแต่เค้าเริ่มลงทุนมาผมก็เห็นว่ากำไรตลอดครับ  ทำได้ดีเลยแหละ

ดังนั้นสรุปอีกที  เอาเวลาศึกษาเกี่ยวกับตัวธุรกิจของบริษัทครับ  ทำไงให้เราเห็นภาพว่าบริษัทมีความได้เปรียบยังไงดีกว่า  อย่ามัวไปงมงายกับ valuation ที่ยังไงมันก็ไม่แม่น  หรืออย่าไปเสียเวลากับรายละเอียดการบันทึกบัญชีปลีกย่อยที่รู้ไปก็เท่านั้น  เอาไปสอบได้อย่างเดียว  มันไม่ทำให้คุณลงทุนได้ดีขึ้นนักหนาหรอกผมพูดจริงๆ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

หุ้นทุนจดทะเบียน กับทุนที่ออกชำระแล้ว คืออะไร ต่างกันยังไง ?

หุ้นทุนจดทะเบียน กับทุนที่ออกชำระแล้ว คืออะไร ต่างกันยังไง ?

จริงๆมันก็ไม่ได้มีประเด็นอะไรมากนะ  แต่เห็นมีคนถามหลายทีละทำวีดิโอตอบซะหน่อย

ทุนจดทะเบียนคือจำนวนเงินทุนที่จดทะเบียนเอาไว้ในเอกสารตามกฎหมายน่ะครับ  คิดซะว่ามันเป็นขออนุญาตเอาไว้  จะออกจริงตามจำนวนนั้นหรือเปล่าก็อีกเรื่องนึง

ส่วนทุนที่ออกชำระแล้วคือที่ออกมาจริงแล้ว  บริษัทได้รับเงินจากผู้ถือหุ้นแล้ว  หุ้นอยู่ในมือของผู้ถือหุ้นแล้ว  ซึ่งก็คือจะเท่ากับหรือน้อยกว่าที่จดทะเบียนไว้ก็ได้

เวลาคิดกำไรต่อหุ้น  จำนวนหุ้นที่เราจะใช้ก็คืออิงทุนที่ออกและชำระแล้ว  ทุนจดทะเบียนไม่เกี่ยว

เอาจริงๆในทางปฏิบัติทุนจดทะเบียนผมก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรนะ  สมมติจะออกหุ้นเกินที่จดทะเบียนไว้ก็สามารถทำได้ขอแค่ให้ผู้ถือหุ้นเห็นชอบเท่านั้นเอง

ในบางประเทศเค้าไม่ต้องมีเรื่องจดทะเบียนไว้เท่าไหร่แล้วด้วยซ้ำ  เช่นหุ้นในออสเตรเลียหรืออังกฤษ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

จะศึกษาหุ้นซักบริษัทนึงจริงจัง ต้องดูอะไรบ้าง ?

What makes a thorough analysis of a stock ?

จะศึกษาหุ้นซักบริษัทนึงจริงจัง ต้องดูอะไรบ้าง ?

จริงๆหัวข้อนี้คือมีคนถามต่อเนื่องจากวีดิโอก่อนหน้า (https://youtu.be/uuc50G_1HZc) ที่เราพูดถึงวิธีกรองอย่างเร็ว  คนถามเค้าอยากรู้ว่าหลังจากผ่านกรองอย่างเร็วแล้วสมมติมีหุ้นที่เราสนใจคือเราต้องดูอะไรต่อ  เอาจริงๆมันก็คือหาข้อมูลพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัทให้เยอะที่สุดที่เป็นไปได้แล้วก็ตัดสินใจว่าจะซื้อมั้ยหรือจะทำอะไรน่ะครับ  แต่โอเคเข้าใจว่าบางคนมือใหม่มากอาจจะไม่เห็นภาพว่ามันคืออะไรประมาณไหน  วีดิโอนี้เราจะพยายามอธิบายให้เห็นภาพครับ

  1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัท
    • ขายอะไร
    • ขายให้ใคร
    • ขายแบบไหน
    • รูปแบบรายได้เป็นแบบไหน
    • สิ่งที่ขายมีความเด่นอะไรยังไง
    • ทำไมคนอยากซื้อของจากเจ้านี้ล่ะ
    • ความนิยมมากขึ้นหรือน้อยลง
    • ความได้เปรียบบริษัทมันอยู่ตรงไหน
    • ที่ผ่านมาผลประกอบการเป็นไง
    • ยอดขายเป็นไง
    • กำไรเป็นไง
    • เก็บเงินได้มั้ย
    • มีหนี้สินเยอะมั้ย
    • เติบโตมั้ย
    • โตจากอะไร
    • อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ
    • ทีมผู้บริหารเป็นใคร  อยู่มานานยัง
    • บริษัทมีแผนจะทำอะไรต่อ
    • ฯลฯ
  2. ทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมที่บริษัทแข่งอยู่
    • ธุรกิจนี้แข่งกันยังไง
    • การแข่งขันรุนแรงมั้ย
    • มีคู่แข่งเยอะมั้ย
    • บริษัทเป็นเจ้าใหญ่มั้ย
    • ส่วนแบ่งการตลาดเป็นไง
    • การเติบโตและอัตราส่วนทางการเงินอื่นๆเทียบกับคู่แข่งเป็นไง
    • ธุรกิจนี้ที่ผ่านมาเป็นไง
    • ธุรกิจนี้มีธุรกิจอื่นมาแข่งอยู่ด้วยหรือเปล่า
    • ธุรกิจนี้ขึ้นลงตามเศรษฐกิจมั้ย
    • หรือขึ้นลงตามอุตสาหกรรมอื่นหรือเปล่า
    • ถูกกำกับดูแลโดยรัฐบาลหรือเปล่า
    • อนาคตน่าจะเป็นยังไงต่อ
    • ฯลฯ
  3. เมื่อทำดีที่สุดแล้ว  ก็เอาทุกอย่างมาประกอบกัน
    • สรุปเราไว้ใจบริษัทนี้มั้ย
    • เราคิดว่าอนาคตมันจะเป็นไงต่อ
    • ปัจจัยเสี่ยงหลักๆน่าจะมาจากอะไรได้บ้าง
    • แล้วด้วยราคาตอนนี้ผลตอบแทนคาดหวังดูคุ้มเสี่ยงหรือเปล่า

ไอเดียคร่าวๆก็ประมาณนี้  ไม่ได้จำกัดว่าต้องรู้เท่านี้นะ  เอาทุกอย่างที่เราคิดว่ามันสำคัญต่อการตัดสินใจของเรานั่นแหละ  ผมแนะนำว่าอย่างน้อยที่สุดเลยเริ่มจากอ่านรายงานประจำปีล่าสุด, งบไตรมาสล่าสุดก็จะช่วยเรื่องข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทได้

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

ห๊า งบการเงิน ? ทำไมต้องดูงบการเงิน / ผลประกอบการด้วย

Why bother looking at the company's financials ?

ห๊า งบการเงิน ? ทำไมต้องดูงบการเงิน / ผลประกอบการด้วย

มีคนสงสัยว่าจำเป็นต้องดูผลประกอบการของบริษัทด้วยเหรอ  เพราะเท่าที่เห็นคือบริษัทกำไรหรือขาดทุนก็ไม่ได้เกี่ยวกับเราเท่าไหร่  ราคาหุ้นมันก็ขึ้นหรือลงไปคนละทางกับผลประกอบการได้  และสุดท้ายประเด็นสำคัญคือเงินลงทุนเรากำไรหรือเปล่ามากกว่ามั้ย  วีดิโอนี้ผมจะพยายามโน้มน้าวว่าเราสมควรต้องดูผลประกอบการของบริษัทครับ

ก็จริงอยู่ครับ  สุดท้ายจริงๆที่เราสนใจคือผลตอบแทนในการลงทุนของเราแหละ  ถ้าสมมติผมจะซื้อหุ้นบริษัทอะไรซักบริษัทนึงแล้วขายได้กำไร 100% แน่นอนนะ  มันก็ยอดเยี่ยมเลยป้ะ  ผมก็ไม่สนใจหรอกว่าบริษัทผลประกอบการจะแย่มากขาดทุนหนักขึ้นเรื่อยๆหรือเปล่าถูกมะ  แต่ปัญหาคือในชีวิตจริงมันไม่รู้แบบนั้นไง  

ในชีวิตจริงลองคิดดูนะ  การซื้อหุ้นของเรานี่กำไรที่เราจะได้มาจากอะไรได้บ้าง  มันก็มาได้อยู่ 2 แบบซึ่งคือเงินปันผลที่ได้ระหว่างที่ถือกับตอนขายหุ้นขายได้ราคาสูงกว่าที่ซื้อมาถูกมะ  ถ้าเราจะลงทุนแล้วได้กำไรเยอะเราก็ต้องคาดหวังอันใดอันหนึ่งหรือทั้งสองอย่างใช่มะ

ประเด็นก็คือผลประกอบการบริษัทมันมีผลกระทบต่อทั้งปันผลและราคาขายไง  เงินปันผลมันก็จ่ายออกมาจากกำไร  ดังนั้นถ้าเราคาดหวังเงินปันผลที่ดีเติบโตมันก็ต้องมาจากบริษัทผลประกอบการมีกำไรเติบโตน่ะครับไม่งั้นมันจะเอาเงินมาจากไหน  ส่วนราคาขาย  คุณว่าระหว่างบริษัทที่ผลประกอบการห่วยและแย่ลงๆกับบริษัทผลประกอบการดีและดีขึ้นเรื่อยๆ  อันไหนคนจะอยากได้มากกว่ากัน  มันก็แน่นอนอยู่แล้วป้ะ  คนก็จะอยากได้บริษัทที่ผลประกอบการดีขึ้นอยู่แล้ว  และในเมื่ออยากได้คนก็ถึงจะยินดีซื้อในราคาที่แพงขึ้นน่ะครับ  คือการที่เราจะคาดหวังว่าให้คนมาซื้อหุ้นต่อจากเราในราคาที่สูงขึ้นทั้งที่บริษัทผลประกอบการห่วยแตกมันก็เกิดขึ้นได้นะ  แต่นั่นมันคือฟลุค  นักลงทุนในตลาดคนอื่นเค้าก็ไม่ได้โง่หรือบ้านะ

ดังนั้นสรุปแล้วนะ  จริงๆเราสนใจแค่ผลตอบแทนในการลงทุนของเราแหละ  แต่พอดีว่าผลประกอบการของบริษัทมันดันมีผลกระทบโดยตรงต่อผลตอบแทนในการลงทุนของเรา  เราก็เลยพลอยต้องดูผลประกอบการของบริษัทไปด้วยก็เท่านั้นเองครับ
เพื่อให้ชัดเจนมากขึ้น  เราสุ่มตัวอย่างจากรายชื่อ SET100 ย้อนดูเปรียบเทียบผลประกอบการบริษัทกับราคาหุ้นดูว่ามันไปในทางเดียวกันมั้ยนะ

1. ADVANC

2. BDMS

3. CPF

4. HMPRO

5.LH

6.IRPC

7. STA

อย่างที่เห็น  ผมก็ว่าโดยรวมมันไปในทิศทางเดียวกันชัดเจนนะ

ต่อให้เราบอกกะจะลงทุนระยะสั้นเลย  ผมว่ายังไงถ้าซื้อหุ้นที่เทรนด์ระยะยาวมันขึ้นยังไงก็มีโอกาสกำไรมากกว่าเทรนด์ระยะยาวมันลงอยู่ดีมั้ยครับ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/

หรือ ทดลองเรียนฟรี

อ่าน 56-1 ยังไง ?

How to read 56-1 ?

อันนี้ก็เป็นคำถามที่มีคนถามหลายทีละ และยอมรับว่าที่ผ่านมาก็ไม่เคยทำวีดิโอตอบนะ หลักๆเพราะผมไม่รู้ว่าคนถามนี่มันต้องการอะไรกันแน่ แต่โอเควีดิโอนี้ผมลองพยายามตอบโดยอธิบายให้ครอบคลุมที่สุดละกัน เออกับบอกไว้อีกอย่างว่าปกติผมจะนิยมอ่าน 56-2 (รายงานประจำปี) นะไม่ได้อ่าน 56-1

เอามาจากไหน ?

โหลดจากเวป www.sec.or.th หรือไม่ก็เวปของบริษัทที่เราสนใจ

อ่านยังไง ?

อ่านเหมือนหนังสือหรือเอกสารภาษาไทยปกติ อ่านจากบนลงล่าง จากซ้ายไปขวา จะมีที่อาจเป็นปัญหาก็ตรงส่วนที่พูดถึงงบการเงินซึ่งคนอ่านก็ควรจะรู้ โดยรวมมันไม่ได้อ่านยากอะไรนะแต่คนเห็นอาจจะตกใจเพราะมันหลายหน้าเท่านั้นเอง

เรื่องอะไรสำคัญบ้าง ?

อันนี้ผมพูดจากความเห็นส่วนตัวละ รายงาน 56-1 โหลดมามันจะแบ่งเป็นหัวข้อให้อยู่แล้ว

  1. การประกอบธุรกิจ
  2. หัวข้อนี้สำคัญสุด อ่านเพื่อให้เข้าใจว่าสรุปบริษัททำธุรกิจอะไรกันแน่ จะได้รู้ว่าคู่แข่งเป็นใครลูกค้าเป็นใคร

    สมมติอ่านส่วนนี้แล้วรู้สึกว่าไม่รู้เรื่อง ไม่เห็นภาพอยู่ดีว่าบริษัททำอะไร อาจจะเป็นสัญญาณว่าควรจะเลิกอ่านแล้วไปอ่านบริษัทอื่นดีกว่าครับ ไม่ใช่แปลว่าเราโง่หรือไม่ดีแค่ว่าเราอาจจะไม่คุ้นเคยกับอุตสาหกรรมนี้เท่าไหร่ ไม่มีความจำเป็นต้องดันทุรัง ธุรกิจประเภทอื่นและโอกาสอื่นๆมีเยอะแยะ

    ตรงส่วนนี้มีเรื่องปัจจัยความเสี่ยงด้วย คือมันจะดูเยอะนี่ก็อย่าไปกังวลมาก ทุกบริษัทต้องเขียนประมาณนี้หมดเพราะมันมีกฎบังคับ กวาดตามองผ่านๆดูว่ามีเรื่องอะไรน่าเอะใจมั้ย เช่นบริษัทพึ่งพาลูกค้าอยู่เจ้าเดียวไรงี้

    รายชื่อบริษัทลูก, บริษัทร่วมทุนพวกนี้ก็ดูไว้ก็ดี

  3. การจัดการและการกำกับดูแลกิจการ
  4. หมวดนี้ก็พวกเรื่องมีทุนออกชำระแล้วกี่หุ้น, ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นใคร, คณะกรรมการกับทีมผู้บริหารมีใครบ้าง, ค่าตอบแทนผู้บริหาร, ผู้บริหารกับกรรมการถือหุ้นเท่าไหร่, ฯลฯ

    ส่วนใหญ่ส่วนนี้ผมไม่ค่อยสนเท่าไหร่ ผมดูผ่านๆมาก อย่างมากที่ดูคือพวกเรื่องค่าตอบแทนผู้บริหาร ดูทั้งที่เป็นตัวเงินแล้วก็พวก stock option ดูว่ากติกาของการได้โบนัสหรือได้หุ้นคืออะไร วัดผลงานผู้บริหารยังไง แล้วก็รายการระหว่างกันที่บริษัทอาจจะมีขายของหรือซื้อของจากบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นด้วยการมีหุ้นหรือมีกรรมการเป็นคนเดียวกัน

    เคยได้ยินบางคนเค้า Google ชื่อผู้บริหารหลักโดยเฉพาะ CEO กับ CFO ดูว่ามีประวัติโกงหรืออะไรป่าว บางคนก็อ่านด้วยว่าประวัติการทำงานมาจากบริษัทไหน ก็เป็นไอเดียที่ดีนะ แต่ตรงส่วนนี้ผมไม่ได้ทำ

  5. ฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน
  6. หมวดนี้ก็แน่นอนสำคัญ อาจมีต้องใช้ความเข้าใจเรื่องบัญชีบ้าง แต่ถึงไม่เคยเรียนมาก่อนเลยก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่รู้เรื่องแต่อาจจะรู้เรื่องไม่ครบ ที่เคยเห็นบน 56-1 มันไม่ใช่งบการเงินตัวเต็ม แต่ก็จะมีสาระสำคัญอยู่บนนั้นและมักจะมีพวกอัตราส่วนทางการเงินต่างๆด้วยซึ่งบนงบการเงินจะไม่มี ผมแนะนำว่าไปอ่านงบการเงินตัวเต็มด้วย เพราะมันจะครบกว่าและมีหมายเหตุประกอบที่มีสาระสำคัญอย่างนโยบายการรับรู้รายได้และอื่นๆ

    อ่านดูว่าบริษัททำธุรกิจแล้วสรุปเป็นไงบ้าง มันจะมีคำอธิบายประกอบด้วยว่าตัวเลขแต่ละอันที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามาจากเรื่องอะไร

คำแนะนำอื่นๆ

  1. พิมพ์ออกมาเป็นกระดาษแล้วอ่านไปด้วยจดไปด้วย
  2. อ่านเป็นครั้งแรกอาจจะรู้สึกนานเพราะไม่คุ้น อ่านหลายๆครั้งไปมันจะเร็วขึ้นเยอะ
  3. อ่านไปถ้าเจอคำเฉพาะที่ไม่รู้ว่าคืออะไรอย่าไปตกใจ Google ซะ

 

ที่นึกออกก็ประมาณนี้นะ

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/courses

จับผิดงบการเงิน : NMC Health กลุ่มโรงพยาบาลใหญ่ใน UAE ที่ถูกจับว่าตกแต่งงบบัญชี

Case study: NMC Health

จับผิดงบการเงิน : NMC Health กลุ่มโรงพยาบาลใหญ่ใน UAE ที่ถูกจับว่าตกแต่งงบบัญชี

เร็วนี้ไปอ่านเจอบทความของ Binod Shankar, CFA น่าสนใจมากเลยมาเล่าให้ฟัง

มันเป็น case study ของบริษัทชื่อ NMC Health  บริษัทนี้ทำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน  มีทำบริการสำหรับผู้มีบุตรยากด้วย  เป็นเจ้าใหญ่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  เคยเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี FTSE 100 ด้วย

แต่ทีนี้ในปี 2019 บริษัทถูกสงสัยว่ารายงานหนี้สินน้อยกว่าที่เป็นจริงโดย Muddy Waters Research  และสุดท้ายในเดือนมีนาคม 2020 บริษัทก็ยอมรับว่ารายงานหนี้สินน้อยไปประมาณ $2.7 billion  ตอนนี้ก็ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้และกำลังอยู่ในกระบวนการที่มีคนเข้ามาจัดการ  ทีมผู้บริหารและกรรมการถูกเปลี่ยน

คำถามที่น่าสนใจของบทความนี้คือ  เราจะสามารถเห็นความผิดปกติของบริษัทนี้ได้ก่อนที่เรื่องมันจะแดงหรือไม่  มีรายการบนงบการเงินไหนที่ผิดสังเกตที่เป็นสัญญาณเตือนเราล่วงหน้าหรือเปล่า  คนเขียนเค้าก็พูดถึงจุดที่เค้าเจอดังนี้

  1. เรื่องการซื้อกิจการ
  2. บริษัท NMC มีการซื้อกิจการต่อเนื่องหลายปี  ตั้งแต่ปี 2015 – 2018 รวมเป็นเงินประมาณ $1.9 billion

    ตัวเลขการซื้อกิจการเยอะๆต่อเนื่องก็เป็นสัญญาณที่ไม่น่าไว้ใจ  หลายครั้งทำเพื่อให้รายได้และกำไรมีการเติบโตเพราะธุรกิจที่มีอยู่เดิมไม่สามารถเติบโตเองได้

  3. ซื้อกิจการเยอะไม่พอ  ซื้อแบบมี Goodwill มหาศาลด้วย
  4. Goodwill มันเป็นตัวเลขส่วนต่างที่เกิดขึ้นเวลาบริษัทซื้อกิจการมาด้วยราคาที่สูงกว่ามูลค่าของทรัพย์สินที่ประเมินได้ของกิจการนั้น  การที่มี Goodwill เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกตินะ  แต่ในกรณีของ NMC Health นี่คุณ Binod Shankar, CFA แสดงตัวเลขให้ดูว่ามันสูงกว่าปกติมาก

    โดยเฉลี่ยแล้ว Goodwill เป็น 350% เทียบกับทรัพย์สินสุทธิของกิจการที่ไปซื้อมา  และถ้าดูเทียบกับทรัพย์สินของบริษัทตัวเองในปี 2018  Goodwill คิดเป็น 37% ของทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งนี่มันเยอะมาก

    ผมลองเทียบกับบริษัท Hanesbrands ซึ่งรู้ว่าเป็นอีกบริษัทที่มีการซื้อกิจการต่อเนื่องหลายปีเช่นกันแต่หลังจากนั้นผลประกอบการไม่ได้มีปัญหา Goodwill คิดเป็น 16.8% เท่านั้นเอง  แต่กับอีกตัวอย่างนึงคือ Stericycle ซึ่งมีการซื้อกิจการต่อเนื่องหลายปีแล้วภายหลังมีปัญหา Goodwill ในช่วงปี 2014 ก่อนที่จะเริ่มเห็นปัญหาก็สูงมาก  คิดเป็นสัดส่วน 54.95% ของทรัพย์สินทั้งหมด

    บางคนก็อาจจะบอกว่า Goodwill มันเป็นตัวเลขทางบัญชีดังนั้นมันอาจจะไม่เกี่ยวเพราะบริษัทที่ซื้อมาอาจจะเป็นพวก Asset light แต่มีกำไรดีก็ได้  แต่ถ้าดูบรรทัดสุดท้ายที่เทียบกำไรทั้งปีของกิจการที่ซื้อมากับราคาซื้อ  จะพบว่าเลขปีหลังๆต่ำลงเยอะมากเหลือแค่ 3-4% เท่านั้นเอง  ถ้าคิดว่าเป็น P/E ก็คือซื้อบริษัท P/E 25-33 เท่ามา  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะซื้อกิจการที่ห่วยมาหรือไม่งั้นก็อาจจะกิจการดีแต่ซื้อมาราคาสูงมาก  มันก็ไม่ดีทั้งคู่

  5. หนี้สินที่เยอะขึ้นเรื่อยๆ
  6. ต่อให้ไม่นับตัวหนี้สินที่เค้าซ่อนแล้วมาเจอทีหลัง  ถ้านับตามงบการเงินอย่างเดียวอย่างน้อยสิ่งที่เราเห็นก็คือเงินกู้ที่ใหญ่ขึ้นหลายปีติด  เหตุผลที่หนี้สินเยอะขึ้นอย่างรวดเร็วก็เข้าใจได้ว่าเพื่อไปซื้อกิจการ

  7. มีแววว่าจะเผื่อหนี้สูญน้อยผิดปกติ
  8. ถ้าดูปริมาณรายได้ค้างรับที่เกินกำหนดชำระจะเห็นว่าสูงขึ้นเรื่อยๆ  และที่สำคัญคือสูงขึ้นเมื่อคิดเป็นสัดส่วนกับรายได้ค่างรับทั้งหมดด้วย  แต่ถึงอย่างนั้นบนงบกำไรขาดทุนไม่ได้มีการพูดถึงการสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอะไรเลย  แล้วยิ่งดูสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่แย่ลงในช่วงปีหลังๆด้วยก็ยิ่งไม่น่าจะถูกต้องเข้าไปใหญ่

ดังนั้นโดยสรุปคือ  ต่อให้เราไม่ได้สามารถที่จะทำการสืบค้นแบบ Muddy Waters ได้  เราก็พอจะเห็นสัญญาณผิดปกติหลายอย่างบนงบการเงินได้อยู่ดี  

ผู้เขียนมีลองเอาตัวเลขงบการเงินไปใส่ Beneish model ที่เป็นเครื่องมือทางสถิติเอาไว้ดูว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ตัวเลขงบการเงินถูกตกแต่ง  เค้าก็พบว่าคะแนนที่ได้ก็บ่งชี้ว่าบริษัทน่าจะมีการตกแต่งงบบัญชีมาตั้งแต่ปี 2016 ทุกปีจนถึง 2018 เลยด้วยครับ

เผื่อคนสนใจอ่านบทความต้นฉบับด้วยตัวเองผมทิ้งลิ้งค์ไว้ครับ https://blogs.cfainstitute.org/investor/2020/05/19/the-nmc-health-debacle-four-red-flags/

ทีนี้สำหรับคนต้องการอ่านเพิ่มเติม  ผมแนะนำให้อ่านรายงานของ Muddy Waters ก่อนเลย  Link อยู่ที่นี่  http://d.muddywatersresearch.com/tou/?redirect=/content/uploads/2019/12/MW_NMC_12172019-1.pdf

ในรายงานของ Muddy Waters นอกจากเรื่องสงสัยว่าโกง  มีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอาคารโรงพยาบาลสูงผิดปกติอะไรพวกนั้นแล้ว  เค้าจะมีพูดถึงการใช้ Reverse Factoring ที่ควรจะมีลักษณะเหมือนกู้ยืมเงินแต่กติกาในการบันทึกบัญชีตรงนี้ไม่ชัดเจนทำให้สามารถบันทึกเป็นเจ้าหนี้การค้าได้  ทำให้ตัวเลขเงินกู้ดูน้อยกว่าที่ควรจะเป็น  รายละเอียดของ Reverse Factoring อธิบายไว้ดีมากบนเวปนี้ครับ  https://valuesque.com/2019/12/28/nmc-health-demystifying-reverse-factoring-the-three-is-a-crowd-financial-analysis-problem/

 

ฟังแล้วเป็นยังไงบ้าง Comment ได้เลยนะครับ

หากชอบเนื้อหา อย่าลืมกด Like & Share และ Follow เราในช่องทางต่างๆ ได้ตามนี้ 🙂

ติดตามพวกเราได้บน Facebook https://www.facebook.com/smartstockinvestment/

หรือทาง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCXXwuZIQdWiS1OIzy0uP1fg

ตอนนี้เรามีคอร์ส Workshop ออนไลน์แล้วด้วยนะ
https://www.adisonc.com/courses