คำถามยอดฮิต  “หุ้นดีราคาถูก หาได้จริงเหรอ”

FAQ : Good and Cheap Stocks, Real or Myth?

fact-or-mythคำถามหมวดนี้มันจะมาได้หลายแบบ  โดยปกติคนมักจะอ้างอิงทฤษฎี  Efficient Market Hypothesis  เพื่อให้เข้าใจตรงกันก่อนตอบคำถามเราปูพื้นฐานเรื่องนี้นิดนึง  ไอเดียหลักๆคือ

  • มีนักลงทุนจำนวนมาในตลาด ทุกคนฉลาด  ขยัน  มีเหตุผผล  และเข้าถึงข้อมูลพอๆกัน
  • ดังนั้นราคาหุ้นในตลาด ก็จะสะท้อนข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่แล้ว  ไม่มีราคาที่ต่ำหรือสูงเกินไป  เพราะถ้าราคาต่ำเกินไปก็จะมีคนรีบเข้าไปซื้อทำให้ราคาสูงขึ้น  หรือถ้ามีราคาสูงเกินไปก็จะมีคนแห่ขายทำให้ราคาตกลงมา
  • เพราะราคาตลาดเหมาะสมแล้ว และจะถูกปรับอย่างรวดเร็วเมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามา  แปลว่าจะไม่มีใครสามารถทำกำไรโดยอาศัยช่องโหว่ราคาตลาดที่สูงหรือต่ำเกินไปได้

ดังนั้นถ้าตามทฤษฎีนี้ก็คือ  เราไม่มีทางหาหุ้นดีราคาถูกได้

คำถาม   ราคาตลาดเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว  จริงเหรอ

เท่าที่สังเกต  ราคาตลาดตอบสนองต่อข้อมูลใหม่อย่างรวดเร็วจริง  อันนี้ไม่เถียง  แต่ไม่ได้แปลว่ามันจะถูกต้อง

ยกตัวอย่างฟาร์มเฮ้าส์ (President Bakery)  ช่วงปี 2015 ราคาอยู่ 43 บาท  ถัดมาหนึ่งปีเป็นช่วง 2016  ราคากลายเป็น 64 บาท  ในขณะที่ลักษณะธุรกิจเหมือนเดิม  ของที่ขายเหมือนเดิม  ผมว่าคนที่บอกว่าราคาตลาดถูกต้องแล้วทั้งสองปีน่าจะยังไม่ค่อยตื่น  มันต้องมีอย่างน้อยปีใดปีหนึ่งที่ผิดแน่นอน

คำถาม   อย่างนี้แปลว่าทฤษฎีนี้ไม่เป็นจริงหรือเปล่า

ในช่วงเวลาปกติทฤษฎีนี้เป็นจริงแหละครับ  แต่ประเด็นคือมันไม่ได้เป็นจริงตลอด

ในความเห็นผมคือ  สมมติฐานที่บอกว่าคนเราจะตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลอยู่ตลอดเวลา  อันนี้ไม่จริง  เพราะคนไม่ใช่คอมพิวเตอร์  นักลงทุนในตลาดมีความโลภ, กลัว, อิจฉา, ฯลฯ  ดังนั้นเวลามีเหตุการณ์ที่ทำให้คนโดยรวมตกใจกลัว  ราคาหุ้นก็จะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้  หรือเวลามีเหตุการณ์อะไรทำให้คนโดยรวมโลภหรือดีใจผิดปกติ  ก็ทำให้ราคาหุ้นแพงเว่อร์ไปเลยก็ได้

และดังนั้น  การหาหุ้นดีราคาถูก  มันก็เลยทำได้จริงไง  แต่มันไม่ได้มีอยู่ตลอดเท่านั้นเอง  เราต้องเข้าใจว่าโอกาสที่ราคามันจะต่ำผิดปกติ  มันมักจะมาตอนคนตกใจกลัวหรือมีอคติมากจนเกินพอดีกับหุ้น  ต้องคอยมองหาช่วงเวลาแบบนั้นครับ

คำถาม   เหตุการณ์แบบไหนบ้างที่บอกคนตกใจเกินพอดี  แล้วเป็นโอกาสที่ดี

อันนี้ตอบยาก  เพราะตกใจมันมาได้หลายรูปแบบมาก  มีทั้งประเภทว่าตกใจเฉยๆแบบว่าบริษัทนั้นไม่ได้แย่ลง  และมีทั้งที่แบบผลประกอบการบริษัทแย่ลงจริงแต่เป็นเหตุการณ์ชั่วคราว  เอาเป็นตัวอย่างละกัน

อย่างช่วงตุลาคม 2016  มีข่าวลือว่าในหลวงประชวรหนัก  ทำให้หุ้นตกรุนแรงมากในวันเดียว  นี่ถือเป็นข่าวร้ายก็จริง  แต่นึกดีๆจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องไม่เกี่ยวอะไรกับธุรกิจเลย  บริษัทก็ไม่ได้ว่าผลประกอบการจะแย่ลง  แบบนี้ผมจะเรียกว่าคนตกใจเฉยๆ  ไม่มีเหตุอะไรจริงจัง  แต่หุ้นตก  แล้วซักพักคนก็หายตกใจ  ราคาก็กลับมาปกติ  คนที่ซื้อช่วงนั้นก็จะกำไรแทบจะแน่นอน

ส่วนเหตุการณ์ชั่วคราว  ผมยกตัวอย่างนโยบายรถคันแรกละกัน  ปลายปี 2012 มีโครงการรถคันแรกใช่มั้ย  พอคนซื้อรถคันแรกได้ถูกลง  ก็ทำให้ความต้องการรถมือสองน้อยลง  ราคารถมือสองตก  หุ้นบริษัท KCAR (Krungthai Car Rent & Lease) ได้รับผลกระทบ  กำไรจากการขายรถมือสองก็ลดลงรุนแรง  ทำให้ราคาหุ้นก็ตกรุนแรงไปด้วย  แต่ถ้าลองนึกดูดีๆ  นโยบายนี้ทำให้ตลาดรถมือสองเลวร้ายลงจริง  แต่มันไม่ได้เป็นแบบนี้ไปตลอดนี่  เพราะมันไม่ได้รถคันแรกทุกปีป้ะ  เมื่อเวลาผ่านไปผลกระทบมันก็จะหายไป  และเมื่อตลาดรถมือสองเริ่มฟื้น  บริษัท KCAR ก็จะดีขึ้นตาม

เนี่ยเป็นตัวอย่างส่วนตัว  ผมทำกำไรดีทั้งสองครั้งเลย  หลักการก็คือเวลาคนตกใจหรือมีอคติกับหุ้นเนี่ยแหละ  ยิ่งอคติรุนแรงยิ่งดี

สรุป  หุ้นดีราคาถูกหาได้จริงแน่นอน  แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน  มันจะมาเป็นระยะๆเวลาที่คนตกใจรุนแรง  การันตีว่ามันหาได้แน่นอน  เพราะที่ผมกำไรดีอยู่ทุกวันนี้ก็ฉวยโอกาสแบบนี้ทั้งนั้นเลย