นักลงทุนรายย่อยอย่างเราได้เปรียบผู้จัดการกองทุนอย่างไร

Advantages We Have Over Mutual Fund Managers

แน่นอนว่าเปรียบเทียบกับพวกเราแล้ว ผู้จัดการกองทุนเค้าจะมีทรัพยากรในการวิเคราะห์ดีกว่าเรา มีเครื่องมือวิเคราะห์มากกว่าเรา มีทีมงานมีกำลังคนที่จะไปวิเคราะห์หุ้นต่างๆได้จำนวนมากกว่าเรา และสามารถจำตาดูหุ้นจำนวนมากพร้อมๆกันได้มากกว่าเรา ดูคล้ายกับรายย่อยอย่างเราจะเสียเปรียบไปทุกเรื่อง แต่จริงๆมันมีแง่มุมที่เราได้เปรียบพวกเขาอยู่เยอะเหมือนกันครับ ซึ่งวันนี้ผมจะมาเล่าข้อได้เปรียบของนักลงทุนรายย่อยให้ฟังครับ

อย่างแรก ผู้จัดการกองทุนเค้าต้องบริหารเงินก้อนใหญ่มาก และสิ่งนี้ทำให้มันยากเพราะเค้าจะไปลงทุนในกิจการที่เล็กเกินไปก็ไม่ได้ เพราะบริษัทขนาดเล็กต่อให้กองทุนซื้อเยอะที่สุดที่เป็นไปได้แล้วทำกำไรได้ดีด้วยนะ เช่นกองทุนมี 1,000 ล้านบาท ลงทุนในกิจการขนาดเล็กหน่อยซื้อได้แค่ 10 ล้านบาท ต่อให้กำไร 50% เลยคือได้กำไรมา 5 ล้านบาท ก็ยังเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องลงทุนทั้งก้อน 1,000 ล้านบาท กลายเป็นว่าภาพรวมแล้วกำไรแค่ 5% เอง และในความเป็นจริงถ้าหุ้นที่เล็กมากโดนกองทุนใหญ่ไล่ซื้อ ราคามันก็จะสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็วทำให้มีข้อจำกัดมากขึ้นไปอีกครับ ส่วนใหญ่แล้วก็เลยจะซื้อได้แต่หุ้นตัวใหญ่ๆเป็นหลัก ยิ่งถ้าเป็นกองทุนที่มีนโยบายซื้อหุ้นลักษณะเฉพาะด้วยแล้วยิ่งจำกัดไปใหญ่ เช่นกองทุนโกรธที่เน้นหุ้นเล็กอัตราเติบโตสูงๆ หรือกองทุนที่เน้นหุ้นปันผล หรือกองทุนเน้นหุ้นใหญ่ๆมั่นคงอย่างเดียว หรืออะไรก็พวกนี้ก็จะเป็นการบีบตัวเลือกให้มีน้อยแล้วเลือกยากเข้าไปอีก

อย่างที่สอง สำหรับกองทุนเปิดที่มีคนเข้าๆออกๆตลอด ผู้จัดการกองทุนเวลาที่ทำได้ดี คนก็จะแห่มาลงทุนกันเยอะ ทำให้มีเงินสดเพิ่ม ต้องไปหาที่ลงทุนใหม่อีก ซึ่งยากที่จะทำได้ดีเท่าเดิมเพราะส่วนใหญ่เวลาที่คนเห็นว่าทำได้ดีคือตอนหุ้นราคาขึ้นไปแล้ว ดังนั้นตอนช่วงนั้นหุ้นก็จะแพงไปละ หนักไปอีกคือถ้าช่วงตลาดหุ้นไม่ค่อยดีหรือตก ก็จะมีคนเทขายหน่วยลงทุนมากเพราะกลัวราคาตก ก็กลายเป็นว่าผู้จัดการกองทุนต้องถูกบังคับให้ไปขายหุ้นออกมาตอนหุ้นราคาถูกเป็นเงินสดคืนให้กับผู้ลงทุน สรุปแล้วถูกกดดันให้ซื้อตอนแพงกับขายตอนหุ้นถูก ตัดสินใจยากมากๆครับ

อย่างที่สาม เวลาผู้จัดการกองทุนเค้าจะตัดสินใจอะไรซักอย่าง เนื่องจากมันเป็นเงินของคนอื่น และเป็นเงินจำนวนมากด้วย เค้าก็จะมีคณะกรรมการของบริษัทตัวเองน่ะแหละคอยตรวจสอบ คอยมาถามคำถามว่าทำไมซื้อตัวนี้ ทำไมขายตัวนั้น ต้องมาคอยตอบคำถามคอยหาเหตุผลอธิบายการกระทำตัวเองอยู่ตลอด ไม่ได้มีอิสระในการตัดสินใจมากอย่างที่คนทั่วไปคิด

อย่างที่สี่ เนื่องจากปกติแล้วพวกกองทุนนี่เค้าจะได้รายได้จากค่าบริหารครับ ดังนั้นรายได้ที่มากก็คือมาจากคนมาลงทุนในกองทุนเยอะๆ ทีนี้ในการไปขายหน่วยลงทุนหรือเชิญชวนให้คนมาซื้อก็คือต้องแสดงผลงาน และโดยปกติแล้วก็จะวัดกันทุกปีเลยครับ ทุกๆปีกองทุนไหนที่ทำได้ดีก็จะออกมาป่าวประกาศว่าทำกำไรได้ดีที่สุดอะไรประมาณนี้ ดังนั้นผู้บริหารกองทุนก็จะโดนกดดันให้ต้องพยายามเอาชนะทำกำไรในระยะสั้นไม่เกินหนึ่งปี ทั้งๆที่บางท่านอาจจะเห็นกิจการที่ดีมากๆเลยอยู่ตรงหน้าราคาดีมากๆ รู้ทั้งรู้ว่าในอนาคตต้องกำไรดีมากและเป็นการลงทุนที่ดีมีเหตุผล แต่บางครั้งก็ต้องปล่อยโอกาสดีๆไปแค่เพราะไม่คิดว่าในระยะสั้นราคาหุ้นมันจะขยับ เหตุผลคือถ้าวางแผนยาวเกินหนึ่งปีเค้าอาจจะไม่ได้อยู่ดูผลงานก็ได้ครับ เกิดกองทุนถูกประเมินออกมาว่าผลงานไม่ดีในปีนั้น แล้วนักลงทุนเริ่มถอนหนีไปลงทุนกับกองทุนอื่น บริษัทเค้าก็จะมาด่า แล้วผู้บริการกองทุนก็โดนไล่ออกเอาคนอื่นมาแทน หรือเช่นถ้าเป็นช่วงตลาดหุ้นราคาสูงเกินไปผู้บริหารกองทุนบอกจะไม่ซื้อเลยซักตัวถือเงินสดอย่างเดียวรอราคาดีกว่านี้เพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนได้มั้ย ได้ครับแต่ผู้ลงทุนก็หนีหมดเพราะผลประเมินกองทุนนั้นก็จะดูไม่ดี ย้ายไปลงทุนกับกองทุนอื่น ผู้จัดการกองทุนก็โดนไล่ออกอีก เป็นแบบนี้น่ะครับน่าสงสารมากๆ

สรุปนะครับ สิ่งที่พวกเราได้เปรียบผู้จัดการกองทุนสุดๆเลยคืออิสระในการเลือกครับ คุณมีอิสระในการซื้อหรือขายมากกว่า และคุณมีความยืดหยุ่นในการรอเวลาซื้อหรือขายที่เหมาะสมมากกว่า ได้เปรียบซะขนาดนี้ผมพูดตรงๆเลยว่าคุณสบายใจได้ ถ้าคุณหาความรู้ มีความตั้งใจลงทุนให้ได้ดี คุณควรจะต้องทำได้ดีกว่าเค้าแน่นอนครับ

 

Please note: I reserve the right to delete comments that are offensive or off-topic.

Leave a Reply